โควิด-19 วันนี้ ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อต้องออกไปทำงาน

01/09/2022 16:09 น.

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น 
โดยเฉพาะหลังจากตรวจพบโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้น ภาครัฐจึงเริ่มกลับมาเน้นมาตรการป้องกันโควิดมากขึ้น ถึงแม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ เราจึงควรเร่งรับวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน 

นอกจากนี้ การทำกิจกรรมช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีการเดินทาง หรือเกิดคลัสเตอร์ ดังนั้น ท่านใดที่กลับจากต่างจังหวัดควรเฝ้าสังเกตการณ์ตนเองอย่างน้อย 14 วัน และ WFH ในสัปดาห์แรกพร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน และหลีกเลี่ยงไปสถานที่เสี่ยง กิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันเป็นหมู่มาก และเดินทางข้ามจังหวัด 
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ทุกคนยังมีหน้าที่ต้องช่วยกันดูแลสุขอนามัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองให้ถูกสุขลักษณะ ในบทความตอนนี้ กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ จึงนำคำแนะนำในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 นับตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านจนกระทั่งกลับเข้าบ้านอย่างปลอดภัยมาฝากครับ

สรุปให้อ่านง่าย

  • เช็คของจำเป็นก่อนออกจากบ้าน หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ อย่าให้ขาด
  • ใช้ชีวิตนอกบ้านให้ปลอดภัย ต้องใส่ใจดูแลตนเองและส่วนรวม ด้วยการเว้นระยะ หมั่นฆ่าเชื้อ และระมัดระวังตนทุกเมื่อที่สัมผัสสิ่งของต่างๆ ทั้งขณะใช้รถสาธารณะ รถส่วนตัว ข้าวของเครื่องใช้ในสำนักงาน ร้านอาหาร และศูนย์บริการต่างๆ
  • กลับถึงบ้าน จัดการเรื่องความสะอาดของตนเองทันที ก่อนนำเชื้อไปแพร่ให้สมาชิกในบ้าน
  • เพิ่มความอุ่นใจไม่กลัวภัยโควิดด้วยประกันที่ให้ความคุ้มครอง ชดเชยรายได้และค่ารักษาพยาบาลมั่นใจได้ว่าเคลมได้จริง

1เช็คของก่อนออกจากบ้าน

ก่อนก้าวออกจากบ้าน พก “เจลแอลกอฮอล์” ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 70% และสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าหรือ Face shield อย่างครบถ้วน เพราะการสวมหน้ากากอย่างถูกต้องนอกจากจะช่วยป้องกันฝอยละอองได้บางส่วนแล้ว บางสถานที่ยังไม่อนุญาตให้เข้าใช้บริการหากไม่สวมใส่อีกด้วย ส่วนเจลแอลกอฮอลล์นั้นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงนี้ เพราะใช้ทำความสะอาดบริเวณที่มือสัมผัส ยับยั้งการเติบโตของเชื้อไวรัสได้ ในขณะที่เรายังไม่สะดวกที่จะล้างมือทันที

2. ใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยไร้โควิด

แม้ในสถานการณ์โควิด ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป นอกจากการดูแลสภาพจิตใจไม่ให้ตื่นตระหนกกับข่าวสารและความเปลี่ยนแปลงรอบตัวแล้ว จะดูแลร่างกายอย่างไรไม่ให้เสี่ยงโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบปะหรือสัมผัสผู้คนในที่สาธารณะในที่ต่างๆ ต่อไปนี้

  • รถสาธารณะ

แม้รถสาธารณะจะผ่อนปรนการเว้นที่นั่งตามมาตรการ Social Distancing แต่ก็ยังคงต้องทำตามข้อแนะนำต่อไปนี้เพิ่มเติมดูครับ

  • เลี่ยงช่วงเวลาที่รถหนาแน่นถ้าเป็นไปได้ และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร ระหว่างใช้บริการ
  • สวมหน้ากากก่อนใช้บริการรถสาธารณะทุกครั้ง
  • เช็ดทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่พกมา หรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีตามจุดให้บริการ
  • งดสัมผัสใบหน้าหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ จนกว่าจะแน่ใจว่าทำความสะอาดมือเรียบร้อยแล้ว
  • หากไอหรือจาม ให้ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูหรือต้นแขนด้านใน
  • หลังไอจาม ทำความสะอาดหน้ากากหรือทิ้งทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ ด้วยการใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นหนา ช่วงเวลาแบบนี้ เห็นใจแม่บ้านและเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลเรื่องการจัดการขยะด้วยนะครับ

  • รถยนต์ส่วนตัว

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ใช้ทางพิเศษที่ยังไม่มีบัตร Easy pass ช่วงนี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่จะเริ่มใช้บัตร Easy pass เพื่อผ่านทางแทนการใช้เงินสด เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันตนเองจาก Covid-19 ที่อาจสะสมอยู่ธนบัตรและเหรียญแล้ว ยังได้ช่วยกันลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ใช้ทางพิเศษและพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษด้วย

  • ออฟฟิศ

ออฟฟิศเป็นที่ที่เราใช้เวลาในแต่ละวันมากที่สุด สำหรับบางคนแล้วมากกว่าที่บ้านด้วยซ้ำ จึงต้องใส่ใจและใช้ชีวิตอย่างมีสติตามหลักการป้องกัน Covid-19 เพื่อร่วมกันหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อ

  • ให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด ณ จุดคัดกรอง
  • สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และเปลี่ยนใหม่หรือทำความสะอาดหน้ากากทุกวัน
  • ทำความสะอาดโต๊ะทำงานและคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ด้วยแอลกอฮอล์ทุกวัน
  • นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ทั้งที่โต๊ะทำงานและในห้องประชุม
  • งดนัดประชุมที่ต้องมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนมาก หากจำเป็น เลือกใช้ Teleconference หรือ VDO Call แทนการประชุมในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท
  • หมั่นทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือด้วยแผ่นทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70%
  • ทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของ เช่น พัสดุ เอกสาร ปุ่มลิฟต์ ราวบันได มือจับประตู ฯลฯ
  • ช่วงพักเที่ยงที่โรงอาหาร นั่งรับประทานอาหารแยกกันและไม่พูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
  • งดแบ่งปันขนมขบเคี้ยวและอาหาร ใช้ช้อนของตนเอง

  • ร้านอาหาร

หากคุณต้องอุดหนุนร้านอาหารละแวกออฟฟิศเพราะไม่มีโรงอาหารให้บริการ การหาร้านอาหารที่จัดโต๊ะเก้าอี้เว้นระยะห่าง 1 เมตร หรือจัดโต๊ะเดี่ยวไว้รองรับลูกค้าอาจจะยากหน่อยด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่คุณทำได้มีดังนี้ครับ

  • เลือกร้านที่ไม่แออัดนัก หรือหากเป็นไปได้ เลือกพักเที่ยงให้เร็วหรือช้ากว่าช่วงเวลาปกติ
  • ล้างมือก่อนสัมผัสภาชนะหรือลงมือรับประทานอาหาร
  • เลือกร้านนั้นที่มีการจัดการด้านสุขอนามัยอย่างถูกต้อง เช่น ร้านหมั่นเช็ดทำความสะอาดโต๊ะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ พนักงานใส่หน้ากากกันน้ำลายกระเด็น หรือพนักงานคิดเงินกับแม่ครัวเป็นคนละคนกันเพื่อลดการปนเปื้อมข้าม (Cross contamination)
  • เลี่ยงการวางมือถือหรือสิ่งของที่คุณต้องสัมผัสไว้บนโต๊ะหรือพื้นร้าน
     
  • ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ สถานเสริมความงาม

ผมก็ยาว สีเล็บก็ต้องเติม หน้าก็ต้องทำเพิ่มใช่ไหมครับ สถานเสริมความงามเปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว นอกจากสวมหน้ากากอนามัยไปใช้บริการแล้ว เรายังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีก

  • โทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้า เลี่ยงการนั่งรอในที่อากาศไม่ถ่ายเทและมีคนแออัดพลุกพล่าน
  • ผู้ให้บริการควรใส่หน้ากากกันน้ำลายกระเด็นหรือ Face shield
  • เลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ในร้าน หรือเช็ดทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
     
  • ห้างสรรพสินค้าและศูนย์บริการต่างๆ

สถานที่นี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงปานกลางเพราะอากาศไม่ค่อยถ่ายเทและมีผู้คนคลาคล่ำ แต่หากมีเหตุให้ต้องจับจ่ายใช้บริการ ควรใส่ใจเรื่องต่อไปนี้ครับ

  • เลี่ยงบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น จุดที่มีการจัดรายการสินค้าราคาพิเศษ จุดรอคิวเข้าห้องน้ำ ฯลฯ
  • หากเป็นไปได้ ใช้บริการห้างร้านที่กำหนดโควต้าจำนวนลูกค้าต่อช่วงเวลา เพื่อให้มั่นใจว่ามีระยะห่างระหว่างกันอย่างเพียงพอ
  • ระมัดระวังการสัมผัสจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ห้องน้ำ มือจับประตู ปุ่มลิฟต์ ราวบันไดเลื่อน ตู้เอทีเอ็ม ตู้กดอัตโนมัติต่างๆ บัตรจอดรถ คูปอง ธนบัตรและเหรียญ ฯลฯ หากจำเป็นต้องสัมผัส ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์

3กลับถึงบ้านแล้วควรทำอย่างไร

ถึงบ้านปุ๊บอย่ามัวเถลไถลนั่งไถมือถือหรือตรงไปเล่นกับคนในบ้าน รีบกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับร่างกายทันทีตามข้อแนะนำต่อไปนี้

  • สำหรับบ้านหรือคอนโดที่มีโถงประตูสำหรับถอดรองเท้าก่อนเก็บเข้าตู้ ควรเปลี่ยนมาถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านแทน เพื่อเลี่ยงเชื้อโรคที่อาจติดมากับพื้นรองเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากที่บ้านมีเด็กเล็กวัยหัดคลาน
  • รีบล้างมือฟอกสบู่ ก่อนที่มือคุณจะสัมผัสลูกบิดประตู เฟอร์นิเจอร์ และสมาชิกในบ้าน
  • ถอดเสื้อผ้าแล้วแยกตะกร้าซักกับสมาชิกคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากที่บ้านมีสมาชิกสูงวัยหรือผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยและติดเชื้อง่าย
  • ชำระล้างร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด
  • เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ใกล้ตัวที่มักสัมผัสขณะอยู่นอกบ้าน เช่น มือถือ กระเป๋าสะพาย ฯลฯ

4. เช็คข่าวให้ชัวร์ และเพิ่มความอุ่นใจด้วยประกันไวรัสโคโรนาที่เคลมได้จริง

นอกจากการดูแลตัวเองและใส่ใจรับผิดชอบต่อส่วนรวม นับตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านไปทำงานจนกระทั่งกลับเข้าบ้านในแต่ละวันแล้ว อย่าลืมเช็คข่าวสารโควิด-19 อย่างมีสติจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่า พื้นที่ไหนเสี่ยงสูง หรือช่วงเวลานั้นๆ เราควรให้ความร่วมมืออย่างไร เพื่อช่วยกันหยุดเชื้อ ที่สำคัญ ไม่เสพข่าวมากจนเครียด พาลให้นอนไม่หลับและภูมิคุ้มกันตกนะครับ

 

เพื่อเพิ่มความอุ่นใจรอบด้าน ลดความเสี่ยงลงอีกทาง ไม่ต้องหนักใจภายหลังเรื่องค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งตัดความกังวลว่าสิทธิประกันสังคมอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เรามีข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ครับ

  • ลองอ่านเงื่อนไขประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตที่คุณเคยทำไว้ก่อนหน้านี้ว่าให้ความคุ้มครองกรณีป่วยเป็นโควิด-19 หรือยัง และเงื่อนไขการคุ้มครองน่าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาหรือไม่
  • เลือกประกันไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ ที่วางใจได้ว่าคุณจะได้รับกรมธรรม์และเคลมได้จริง พร้อมความคุ้มครอง ชดเชยรายได้ ค่ารักษาพยาบาล และคุ้มครองภาวะโคม่าจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

หากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกประกันโควิดที่ไหนดี ลองศึกษาเงื่อนไขก่อนได้เลยครับ

สนใจประกันนี้

ที่มา
http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/90650
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/technical-guidance/infection-prevention-and-control