ประกันรถยนต์คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง?

17/11/2023 09:08 น.

ประกันรถยนต์

Cr.Freepik 

สำหรับใครที่มีรถยนต์ หนึ่งในสิ่งจำเป็นที่รถทุกคันควรมีก็คือ ประกันรถยนต์ ที่จะทำหน้าที่ในการช่วยคุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก และทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งประกันรถยนต์นั้นมีหลายประเภท และหลายแผน ที่มีเงื่อนไข และรูปแบบการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป วันนี้คานะจะพาทุกคนไปไขทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับประกันรถยนต์ ว่ามีเรื่องอะไรที่ทุกคนควรรู้บ้าง!

 

ประกันรถยนต์คืออะไร

ประกันรถยนต์ คืออีกหนึ่งประเภทของประกันภัยที่จะทำหน้าที่คุ้มครองความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากการใช้รถ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุรถชนรถ หรือความเสียหายจากรถยนต์ที่เกิดต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งประกันรถยนต์คุ้มครองอะไรบ้างนั้น สามารถแบ่งได้ ดังนี้

1.ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ

2.ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ของตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก

 

ประกันรถยนต์มีกี่ประเภท

อุบัติเหตุรถยนต์

Cr.Freepik

ประกันรถยนต์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ภาค คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ จะทำหน้าที่คุ้มครองแตกต่างกัน ดังนี้

 

ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535) เป็นประกันที่กฎหมายกำหนดให้รถยนต์ หรือยานพาหนะที่จดทะเบียนกรมขนส่งทางบกทุกประเภทต้องมี และต่ออายุในทุกๆ ปี เนื่องจาก พ.ร.บ. จะทำหน้าที่คุ้มครองแก่บุคคลภายนอกที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถ ไม่ว่าผู้ประสบเหตุนั้นจะเป็นฝ่ายถูก หรือผิด เช่น หากผู้เอาประกันขับรถไปชนกับอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บ พ.ร.บ. จะทำหน้าที่ช่วยจ่ายค่ารักษาพบาบาลให้กับบุคคลภายนอก โดยจะจ่ายให้ตามความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ

 

ในกรณีที่เจ้าของรถขาดการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะทำให้เจ้าของรถต้องเสียภาษีรถในตอนที่ไปทำเรื่องต่อ พ.ร.บ. อีกครั้ง หรือหากขาดการต่อ พ.ร.บ. เป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป จะส่งผลให้ทะเบียนรถถูกระงับได้ แต่หากใช้รถที่ขาด พ.ร.บ. ในการขับขี่ จะมีโทษปรับอยู่ที่ 10,000 บาท นอกจากนี้หากเกิดอุบัติเหตุในช่วงที่รถไม่มี พ.ร.บ. เจ้าของรถจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสียหายเองทั้งหมด

 

โดย พ.ร.บ. รถยนต์จะทำหน้าที่คุ้มครองกรณีแบบไม่พิสูจน์ฝ่ายไหนถูกผิด ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล กรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ พ.ร.บ. จะทำการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
  • ในกรณีที่สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร พ.ร.บ. จะช่วยออกค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน
  • ในกรณีที่เสียชีวิตทันทีหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะช่วยจ่ายค่าปลงศพ เป็นเงินจำนวน 35,000 บาทต่อคน
  • หากกรณีที่มีการสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิตหลังจากได้รับการรักษาพยาบาล พ.ร.บ. จะช่วยออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่ารักษาพยาบาลในส่วนแรกเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

 

ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

คือประกันที่เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ(ผู้เอาประกัน) และบริษัทประกันภัย โดยผู้ซื้อประกันสามารถเลือกซื้อประเภทความคุ้มครองตามที่ตนเองต้องการตั้งแต่ประกันชั้น 1 ไปจนถึงประกันชั้น 3 ซึ่งประกันแต่ละประเภทนั้นจะให้ความคุ้มครองมากน้อยที่แตกต่างกันไป เช่น หากมีประกันชั้น 1 แล้วเกิดอุบัติเหตุขับรถชนเสาไฟฟ้า ประกันจะทำหน้าที่ช่วยจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากเป็นประกันชั้น 2 ที่คุ้มครองเฉพาะรถชนรถเท่านั้น ก็จะไม่คุ้มครองในกรณีนี้ โดยบริษัทประกันจะออกกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานการทำประกันรถยนต์

 

เปรียบเทียบประกันรถยนต์แต่ละชั้น คุ้มครองอะไรบ้าง

ประเภทของประกันรถยนต์นั้น สามารถแบ่งออกได้หลักๆ เป็น 5 ประเภท โดยจะมีตั้งแต่ประกันชั้น 1 ไปจนถึงประกันชั้น 3 ที่จะให้ประกันรถยนต์แต่ละชั้นมีความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป  ดังนี้

 

ประกันรถยนต์ชั้น 1

  • ความเสียหายต่อรถยนต์ จากการชนแบบไม่มีคู่กรณี
  • ความเสียหายต่อรถยนต์ จากกรณีรถชนกัน
  • รถยนต์สูญหาย หรือถูกโจรกรรม
  • รถยนต์ไฟไหม้
  • ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น รถน้ำท่วม
  • ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของบุคคลภายนอก
  • ค่ารักษาพยาบาล และประกันอุบัติเหตุ ต่อตัวคนขับ และผู้โดยสาร
  • ค่าประกันตัวผู้ขับขี่

 

ประกันรถยนต์ชั้น 2+

  • ความเสียหายต่อรถยนต์ จากการชนแบบไม่มีคู่กรณี
  • รถยนต์สูญหาย หรือถูกโจรกรรม
  • รถยนต์ไฟไหม้
  • ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น รถน้ำท่วม
  • ค่าเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต บุคคลภายใน บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน
  • ค่ารักษาพยาบาล และประกันอุบัติเหตุ ต่อตัวคนขับ และผู้โดยสาร
  • ค่าประกันตัวผู้ขับขี่

 

ประกันรถยนต์ชั้น 2

  • รถยนต์สูญหาย หรือถูกโจรกรรม
  • รถยนต์ไฟไหม้
  • ค่าเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต บุคคลภายใน บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน
  • ค่ารักษาพยาบาล และประกันอุบัติเหตุ ต่อตัวคนขับ และผู้โดยสาร
  • ค่าประกันตัวผู้ขับขี่

 

ประกันรถยนต์ชั้น 3+

  • ความเสียหายต่อรถยนต์ จากการชนแบบไม่มีคู่กรณี
  • ค่าเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต บุคคลภายใน บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน
  • ค่ารักษาพยาบาล และประกันอุบัติเหตุ ต่อตัวคนขับ และผู้โดยสาร
  • ค่าประกันตัวผู้ขับขี่

 

ประกันรถยนต์ชั้น 3

  • ค่าเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต บุคคลภายใน บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน
  • ค่ารักษาพยาบาล และประกันอุบัติเหตุ ต่อตัวคนขับ และผู้โดยสาร
  • ค่าประกันตัวผู้ขับขี่

 

ประกันรถยนต์แบบไหนที่เหมาะกับคุณ

ประกันรถยนต์แบบไหนที่เหมาะกับคุณ?

Cr.Freepik 

อย่างที่ทราบกันดีว่าประกันรถยนต์มีหลายประเภท ซึ่งต่างทำมาเพื่อรองรับรูปแบบการใช้รถของคนทุกกลุ่ม ประกันแบบไหนเหมาะกับใครนั้นสามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

ประกันรถยนต์ชั้น 1 เหมาะกับใคร

  • รถใหม่อายุไม่เกิน 7 ปี หรือรถป้ายแดง ที่ต้องการการดูแลที่ครอบคลุม
  • คนที่พึ่งขับรถที่ยังขับไม่แข็ง หรือไม่ชำนาญรถใหม่ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง
  • คนที่ขับรถเป็นประจำ หรือต้องขับรถออกต่างจังหวัดบ่อยๆ

 

ประกันรถยนต์ชั้น 2+ เหมาะกับใคร

  • รถใหม่อายุไม่เกิน 4-15  ปี หรือรถป้ายแดง ที่ต้องการการดูแลที่ครอบคลุม ในราคาที่ถูกกว่าประกันชั้น 1
  • คนที่พึ่งขับรถ หรือยังขับไม่แข็ง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง

 

ประกันรถยนต์ชั้น 2 เหมาะกับใคร

  • รถมือสอง หรือรถเก่าที่มีอายุ 10-20 ปีขึ้นไป
  • คนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเป็นประจำ หรือคนที่ขับรถนานๆ ครั้ง

 

ประกันรถยนต์ชั้น 3+ เหมาะกับใคร

  • รถใหม่อายุไม่เกิน 4-15 ปี หรือรถป้ายแดง ที่ต้องการการดูแลที่ครอบคลุม
  • คนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเป็นประจำ แต่ต้องการการคุ้มครองเทียบเท่าประกันชั้น 2+

 

ประกันรถยนต์ชั้น 3 เหมาะกับใคร

  • รถมือสอง หรือรถเก่าที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
  • คนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเป็นประจำ หรือคนที่ขับรถนานๆ ครั้ง

 

ซ่อมอู่ กับ ซ่อมศูนย์ แตกต่างกันอย่างไร

สำหรับคนที่ทำประกันรถยนต์ บริษัทประกันจะให้ผู้เอาประกันเลือกว่า เมื่อต้องเคลมประกัน หรือต้องส่งซ่อมรถ จะเลือกใช้บริการส่งรถ “ซ่อมอู่” หรือ “ซ่อมศูนย์” ซึ่งจะมีการให้บริการ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ดังนี้

 

การซ่อมอู่

การซ่อมอู่ คือ การนำรถไปเข้าอู่ซ่อมรถทั่วไป โดยสามารถแยกเป็นอู่ในเครือประกันรถยนต์ และอู่รถยนต์นอกเครือประกันรถยนต์

 

1.อู่ในเครือประกัน เป็นอู่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยบริษัทประกันที่ทำสัญญา หากผู้เอาประกันต้องการนำรถไปเคลม หรือซ่อม ทางอู่ในเครือประกันสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน

ข้อดีของการซ่อมอู่ในเครือประกัน

  • เบี้ยประกันถูกกว่าซ่อมศูนย์
  • ราคาถูก สามารถต่อรองราคาได้
  • ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน และไม่มีค่าส่วนต่างในการซ่อม

 

2. อู่นอกเครือประกัน เป็นอู่ซ่อมรถทั่วไป ที่ไม่ได้มาตรฐานจากบริษัทประกัน หากผู้เอาประกันต้องการนำรถยนต์ไปซ่อม อาจต้องสำรองจ่ายก่อน จากนั้นจึงนำใบเสร็จไปเบิกบริษัทประกันได้ แต่หากกรณีที่หลังจากซ่อมแล้ว รถยนต์เกิดความขัดข้อง บริษัทประกันจะไม่สามารถทำการช่วยเหลือได้

ข้อดีของการซ่อมอู่นอกเครือประกัน

  • มีโอกาสได้รับการซ่อมจากอู่ที่ชำนาญเฉพาะด้าน
  • สามารถเลือกอู่ที่อยู่ใกล้บ้าน ทำให้สะดวกสบายในการเดินทาง

 

การซ่อมศูนย์

ซ่อมศูนย์ หรือเรียกอีกแบบว่า “ซ่อมห้าง” เป็นการนำรถยนต์ซ่อมที่ศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ ทำให้ได้รับบริการจากช่างมืออาชีพที่เชี่ยวชาญรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ ทำให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์จะได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ แต่ค่าใช้จ่ายของการซ่อมศูนย์ก็จะแพงตามไปด้วย

ข้อดีของการซ่อมศูนย์

  • อนุมัติการซ่อมง่าย และรวดเร็ว
  • มีมาตรฐานการบริการที่ดี
  • ได้รับการซ่อมที่ได้มาตรฐานจากช่างมืออาชีพ
  • ได้รับอะไหล่แท้ และเป็นของใหม่ที่ส่งตรงจากโรงงานของรถยนต์รุ่นนั้นๆ
  • ได้รับประกันการซ่อม หากมีปัญหาสามารถทำเรื่องเคลมใหม่ได้

 

ประกันรถยนต์ แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ต่างกันอย่างไร

การซื้อประกันรถยนต์นั้น จะมีเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันสามารถเลือกแผนผู้ขับขี่แบบระบุชื่อ และไม่ระบุชื่อ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการช่วยให้ตอนเคลมประกันนั้นเป็นไปอย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น การเลือกแผนประกันแบบระบุชื่อคนขับ หรือไม่ระบุคนขับนั้น มีความแตกต่างกัน ดังนี้

 

ประกันรถยนต์ แบบระบุชื่อผู้ขับขี่

ประกันรถยนต์ แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ เป็นประกันรถยนต์ที่ระบุชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของรถลงในกรมธรรม์ สามารถระบุชื่อได้สูงสุด 2 คน โดยจะเป็นแผนประกันที่สามารถทำได้เฉพาะประกันรถยนต์ชั้น 1 เท่านั้น นอกจากนี้ประกันรถยนต์ แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ ยังมีส่วนลดทำให้จ่ายเบี้ยประกันน้อยลงตามช่วงอายุ ดังนี้

1. อายุ 18-24 ปี รับส่วนลด 5% เนื่องจากมีความเสี่ยงมากที่สุด

2. อายุ 25-35 ปี รับส่วนลด 10%

3. อายุ 36-50 ปี รับส่วนลด 15%

4. อายุ 50 ปีขึ้นไป รับส่วนลด 20% เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

 

ประกันรถยนต์ แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่

ประกันรถยนต์ แบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ เป็นการทำประกันภัยปกติที่ได้รับความนิยมมานาน เนื่องจากให้ความคุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งหมด รวมทั้งตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร โดยที่ไม่คำนึงว่าผู้ขับขี่เป็นใคร หรือชื่ออะไร 

 

 

สรุป

ประกันรถยนต์เป็นสิ่งจำเป็นที่คนมีรถทุกคนจำเป็นต้องมี เพราะนอกจากจะช่วยคุ้มครองรถยนต์ คนขับ และผู้โดยสารแล้ว ยังช่วยคุ้มครองบุคคลภายนอก หรือคู่กรณี ดังนั้นประกันรถยนต์จึงเป็นเรื่องที่คนมีรถทุกคนควรศึกษา เพื่อเลือกแพ็กเกจประกันรถ ที่เหมาะสมกับตนเอง และขับขี่อย่างอุ่นใจ หมดกังวลเรื่องอุบัติเหตุ หรือเหตุไม่คาดฝันต่างๆ