_re.jpg)
พ.ร.บ. รถยนต์กับประกันภาคสมัครใจ ต่างกันยังไง?
30/05/2024 14:24 น.
Cr.Freepik
คนมีรถคงทราบกันดีว่าการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ คือสิ่งที่ต้องต่อในทุกปีเพราะเป็นข้อกำหนดตามกฎหมาย แต่หลายคนก็อาจสงสัยว่า พ.ร.บ. รถยนต์ และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ต่างกันยังไงบ้าง? และหากเรามีประกันรถยนต์แล้วยังต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือไม่? ในบทความนี้คานะจะพาทุกคนไปไขคำตอบ ถ้าพร้อมแล้วติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
ความสำคัญของ พ.ร.บ. รถยนต์
พ.ร.บ. รถยนต์ มีความสำคัญเนื่องจากเป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายให้ยานพาหนะที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทุกประเภทต้องมี ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองต่อผู้ขับขี่รถยนต์รวมถึงบุคคลภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด โดย พ.ร.บ. รถยนต์ จะช่วยทำหน้าที่ในการช่วยเหลือค่าเสียหายต่อร่างกายและชีวิตเป็นหลัก
โดย พ.ร.บ. รถยนต์ ราคาค่าใช้จ่ายรถแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็นดังนี้
ประเภทรถยนต์ |
ค่าใช้จ่าย |
รถยนต์โดยสาร ไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รถเก๋ง) |
600 บาท/ปี |
รถยนต์ไฟฟ้า ไม่เกิน 7 ที่นั่ง |
600 บาท/ปี |
รถยนต์โดยสารเกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 15 ที่นั่ง (รถตู้) |
1,100 บาท/ปี |
รถยนต์โดยสารเกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง |
2,050 บาท/ปี |
ความแตกต่างของ พ.ร.บ. รถยนต์ และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
Cr.Freepik
พ.ร.บ. รถยนต์ และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ จะให้ความคุ้มครองและเงื่อนไขที่ต่างกัน ดังนี้
1. พ.ร.บ. รถยนต์ คือสิ่งที่รถทุกคันต้องมี
อย่างที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ. รถยนต์ คือประกันภาคบังคับที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันจะต้องมี หากปล่อยให้ พ.ร.บ. รถขาดจะส่งผลให้รถต่อภาษีไม่ได้และยังผิดกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าของรถต้องเสียค่าปรับโดยแบ่งเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้
- รถขาดต่อ พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- รถขาดต่อ พ.ร.บ. แล้วต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้ หากถูกจับจะเสียค่าปรับ 400 - 1,000 บาท และถูกปรับดอกเบี้ยเพิ่มเดือนละ 1% ในครั้งถัดไป
- กรณีที่รถขาดต่อภาษีนาน 3 ปี ทะเบียนรถจะถูกระงับการใช้งาน โดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- กรณีที่ไม่ใช่เจ้าของรถ และใช้รถที่ไม่มี พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ส่วนประกันภัยรถยนต์ นั้น จะเป็นประกันภาคสมัครใจที่เจ้าของรถจะทำหรือไม่ทำก็ได้ และยังสามารถเลือกความคุ้มครองมากน้อยได้ตามความต้องการ ซึ่งประกันรถยนต์จะให้ความคุ้มครองที่เยอะกว่า พ.ร.บ. ครอบคลุมหลายกรณีขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ที่เราเลือก
2. พ.ร.บ. จะคุ้มครองเฉพาะร่างกายและชีวิตเท่านั้น
หน้าที่หลัก ๆ ของ พ.ร.บ. คือการให้ความคุ้มครองต่อร่างกายและชีวิตของคนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก โดย พ.ร.บ. รถยนต์ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดใช้ในการจัดการงานศพ เป็นต้น เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุของผู้ประสบภัย แต่ พ.ร.บ. จะไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถใด ๆ ทั้งสิ้น ต่างจากประกันรถยนต์ที่จะคุ้มครองครอบคลุมในส่วนของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์ทั้งของตัวผู้ขับขี่และบุคคลภายนอก
3. พ.ร.บ. จะไม่ช่วยจ่ายค่าประกันตัว กรณีผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิด
หากผู้ขับขี่ประสบอุบัติเหตุแล้วถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในคดีอาญา พ.ร.บ. รถยนต์ จะไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่าประกันตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ต่างจากประกันรถยนต์ที่จะให้ความคุ้มครองในส่วนของค่าประกันตัวและค่าทนายความ โดยวงเงินความคุ้มครองจะมากน้อยขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ที่เลือก
สรุป
จะเห็นได้ว่าแม้ขึ้นชื่อว่าเป็นประกันรถ แต่ พ.ร.บ. รถยนต์ และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น ให้ความคุ้มครองที่ต่างกันพอสมควร แต่ถึงแม้ว่าประกันรถยนต์จะคุ้มครองเยอะกว่า แต่การมี พ.ร.บ. รถยนต์ ก็ยังสำคัญและต้องต่อเป็นประจำในทุกปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกจะได้ความช่วยเหลือหากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่วนใครที่กำลังอยากต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ออนไลน์ ที่สมัครง่าย ไม่ยุ่งยาก คานะขอแนะนำ กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ สะดวก ครบ จบ ทุกความต้องการในที่เดียว