ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง ?

16/02/2024 18:31 น.

ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง?

Cr.Freepik

พ.ร.บ. รถยนต์ คือสิ่งที่คนมีรถต่างต้องรู้จักกันดี เพราะเป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องมี นอกเหนือจากประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ คืออะไร และทำหน้าที่คุ้มครองอะไรบ้าง ในบทความนี้คานะได้รวมทุกข้อควรรู้เบื้องต้นให้แล้ว ไปติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

 

พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร

“ประกันรถยนต์ภาคบังคับ” หรือ “พ.ร.บ. รถยนต์” ย่อมาจาก “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535” เป็นประกันภาคบังคับที่กำหนดให้เจ้าของรถที่มีชื่อในเล่มทะเบียนหรือรถทุกคันที่จดทะเบียนในกรมขนส่งทางบก จะต้องต่ออายุในทุก ๆ ปี เพื่อเป็นหลักประกันต่อผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ว่าจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าผู้ประสบเหตุนั้นจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด

 

ประโยชน์ของ พ.ร.บ. รถยนต์

อุบัติเหตุรถยนต์

Cr.Freepik 

สำหรับ พ.ร.บ. รถยนต์ จะมีประโยชน์ต่อผู้ขับขี่รถยนต์และบุคคลภายนอก ดังนี้

1.ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

อย่างที่ทราบดีว่า พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นสิ่งที่คนมีรถต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการมี พ.ร.บ. รถยนต์ นั้นจะช่วยให้ผู้เอาประกัน รวมถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถ ได้รับความคุ้มครองต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด  หรือที่เรียกว่า สวัสดิการสงเคราะห์ของรัฐบาลที่มอบให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายและครอบครัวผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยจากการเสียชีวิต

2.ลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้ว สิ่งที่ตามมาคือความเสียหายทั้งทรัพย์สินและร่างกาย พ.ร.บ. รถยนต์ จะช่วยทำหน้าที่ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยในกรณีที่เสียชีวิต เป็นเงินมูลค่าสูงสุดร่วม 500,000 บาท ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกัน

 

ความคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถยนต์

รถชน

Cr.Freepik 

พ.ร.บ. รถยนต์ จะให้ความคุ้มครองต่อผู้ขับขี่และบุคคลภายใน ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้

ค่าเสียหายเบื้องต้น

คือค่าเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ พ.ร.บ. รถยนต์ จะทำหน้าที่คุ้มครอง โดยที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก-ผิด โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

  • กรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร หลังจากได้รับการรักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ จะช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพ 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

ค่าเสียหายส่วนเกิน หรือค่าสินไหมทดแทน

เป็นค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทประกันจะทำการชดใช้ หลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยจะมีการแบ่งการชดใช้กรณีที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูกและผิด ดังนี้

กรณีที่เป็นฝ่ายถูก

  • กรณีได้รับบาดเจ็บ ได้รับค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกินคนละ 80,000 บาท
  • กรณีสูญเสียนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือข้อนิ้ว 1 นิ้วขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยคนละไม่เกิน 200,000 บาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน รวมถึงกะโหลกศีรษะเทียม ได้รับเงินชดเชยคนละ 250,000 บาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ 2 ส่วนขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยคนละไม่เกิน 500,000 บาท
  • กรณีทุพพลภาพถาวรโดยสิ้นเชิง หรือเสียชีวิต ได้รับเงินชดเชยคนละไม่เกิน 500,000 บาท
  • กรณีพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน ได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท นานสุดไม่เกิน 20 วัน รวมเป็นเงิน 4,000 บาท

กรณีที่เป็นฝ่ายผิด

  • กรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร หลังจากได้รับการรักษาพยาบาล พ.ร.บ. รถยนต์ จะช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพ 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

 

กรณีไหนบ้างที่ พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่คุ้มครอง

สำหรับกรณีที่อยู่นอกเหนือจากความคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถยนต์ มีดังนี้

1.ขับขี่นอกประเทศ

พ.ร.บ. รถยนต์ จะไม่คุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุนอกพื้นที่ประเทศไทย เช่น เกิดอุบัติเหตุในขณะที่ขับรถในพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น เนื่องจากตามกฎหมายนั้นจะถือว่าอยู่นอกเหนืออาณาเขตคุ้มครอง

2.ใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมาย

การใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การขนส่งยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย รวมถึงการนำรถยนต์ไปแข่งความเร็วจนสร้างความเดือดร้อนต่อสังคม แล้วเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จาก พ.ร.บ. รถยนต์

3.ความเสียหายเนื่องจากรถยนต์ถูกโจรกรรม

กรณีที่รถยนต์สูญหายหรือถูกโจรกรรม ยักยอก จะไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งการคุ้มครองในกรณีนี้ เจ้าของรถจะต้องเลือก ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจที่คุ้มครองกรณีนี้เท่านั้น

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ คือสิ่งที่คนใช้รถทุกคนจะต้องมี นอกเหนือจากการมีประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ เพราะนอกจาก พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองที่ผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและบุคคลภายนอกแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายการขับขี่อีกด้วย ส่วนใครที่กำลังมองหา พ.ร.บ. รถยนต์ออนไลน์ ที่ซื้อง่าย สะดวก คานะขอแนะนำต่อ พ.ร.บ. ออนไลน์ กับ กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ สมัครง่าย ครบ จบ ทุกความต้องการในที่เดียว