EP36 เคลมได้ป่ะ!? การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ มีหลักเกณฑ์ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรบ้าง

26/01/2023 17:15 น.


 

การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ( Compulsory Motor Insurance ) หมายความถึง การประกันภัยรถยนต์ที่ถูกบังคับโดยกฎหมาย เพื่อความคุ้มครองต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกายบุคคล ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่า"พระราชบัญญัติ" คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ( พ.ร.บ.) เพื่อให้ประชาชน ผู้ประสบภัย ได้รับความคุ้มครอง และการชดใช้ค่าเสียหายที่แน่นอน รวดเร็ว และเป็นธรรม

เจตนารมณ์และเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถได้ทวีจำนวนมากขั้นในแต่ละปี เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประสบภัยดังกล่าวไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับจริง ดั้งนั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย     ที่แน่นอนและทันท่วงที จึงกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยมีเจตนารมย์ ดังนี้

(1) คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งได้รับอันตรายความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย

(2) ผู้ประสบภัยจากรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายเบื้องต้นอย่างแน่นอนและทันท่วงที และเป็นหลักประกันได้ว่าสถานพยาบาลทุกแห่งจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างแน่นอนและรวดเร็วในการรับรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าว

(3) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจประกันภัย ให้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบาค่าเสียหายของผู้ประกันภัยอันเนื่องมาจาก อุบัติเหตุจากรถ

ผู้ประสบภัย หมายความว่า บุคคลที่ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้หรือ อยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น ซึ่งผู้ประสบภัยอาจเป็นผู้เอาประกันภัยเอง บุคคลในครอบครัวของ ผู้เอาประกันภัย บุคคลที่อยู่นอกรถ ผู้โดยสาร หรือผู้ขับขี่ก็ได้และยังหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของ ผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย การจะเป็นผู้ประสบภัยนั้น จะต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องจากภัยที่รถ ก่อให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากรถก่อให้เกิดภัยเองไม่ได้ รถจะก่อให้เกิดภัยได้ต้องมีบุคคลนำรถมาใช้โดยรถที่ใช้นั้นให้หมายถึงรถที่ถูกนำมาใช้เป็นพาหนะ และระหว่างการนำรถมาใช้นั้นมีการก่อให้เกิดภัยจากรถขึ้น และภัยนั้นทำให้ บุคคลได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย โดยการพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่ ให้ยึดหลักองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1) มีบุคคลคนหนึ่งเจตนานำรถมาใช้และได้เข้าใช้รถนั้น เช่น ผู้ขับขี่ได้ขับรถออกมาใช้เป็นพาหนะแล้ว และ

2) ระหว่างการนำรถมาใช้และมีกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกันกับการใช้รถ แล้วมีการก่อให้เกิดภัยจากรถขึ้น ซึ่งภัยนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากผู้นำรถมาใช้ หรือผู้โดยสาร หรือจากบุคคลภายนอกรถก็ได้คำว่าระหว่างการใช้รถนั้นมิได้ มีความหมายเพียงว่า ขณะนั้นรถต้องติดเครื่องอยู่ หรือรถต้องกำลังวิ่งอยู่เท่านั้น แม้รถจะไม่ได้ติดเครื่องหรือกำลังวิ่ง อยู่ก็ตาม หากช่วงเวลานั้นมีการกระทำ หรือกิจกรรมใดที่เป็นการใช้รถ หรือที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถก็ถือว่าเป็นเวลา ระหว่างการใช้รถ และ

3) ภัยจากรถที่ใช้นั้นทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ผู้ได้รับความเสียหายจะเป็น ผู้นำรถมาใช้เองหรือผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอกรถก็ได้

            ดังนั้นการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่เรียกกันว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535  จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีหลักเกณฑ์ความคุ้มครองอยู่ 2 ส่วน ดังนี้

1. ส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น

2. ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น

            ในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยจะได้รับการคุ้มครองในค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก โดยหลักเกณฑ์การคุ้มครองในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. ความเสียหายต่อร่างกาย จำนวนเงินที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000  บาทต่อหนึ่งคน

2. ความเสียหายต่อร่างกายสำหรับการสูญเสียอวัยวะหรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือ ทุพพลภาพ  ถาวรสิ้นเชิง  จำนวนเงิน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน

3. ความเสียหายต่อชีวิต จำนวนเงิน 35,000  บาทต่อหนึ่งคน

4. รักษาแล้วต่อมา สูญเสียอวัยวะ หรือ  ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือ เสียชีวิต จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น ไม่เกิน 65,000  บาทต่อหนึ่งคน

สำหรับในส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยจะได้รับการคุ้มครองในส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น โดยต้องรอพิสูจน์ผลคดีฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก โดยหลักเกณฑ์การคุ้มครองในส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. ความเสียหายต่อร่างกาย จำนวนเงินที่จ่ายจริงไม่เกิน 80,000  บาท ต่อหนึ่งคน  (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น)

2. ความเสียหายต่อร่างกายสำหรับการสูญเสียอวัยวะ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ความคุ้มครอง            การสูญเสียอวัยวะ หมายถึง การถูกตัดออกจากร่างกาย ตั้งแต่ ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า และให้หมายรวมถึงการสูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์  หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว หรือสูญเสียอวัยวะอื่นใด ภายในร่างกาย และมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ชัดเจนว่าไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกตลอดไป

            โดยในส่วนของการสูญเสียอวัยวะ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ความคุ้มครอง ดังนี้

            2.1 กรณีสูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาทต่อหนึ่งคน

            2.2 กรณีสูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่ง ข้าง หรือสายตาหนึ่งข้าง  ( ตาบอด )  กรณีใดกรณีหนึ่ง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน

            2.3 กรณีสูญเสียมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนสองข้าง หรือเท้าสองข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาสอง ข้าง หรือสายตาสองข้าง ( ตาบอด )  บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท ต่อหนึ่งคน

( ทั้งนี้ กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัยหลายกรณี บริษัทจะจ่ายจำนวนเงิน คุ้มครองเฉพาะกรณีที่มีจำนวนเงินคุ้มครองที่สูงกว่า )

            3. กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาทต่อหนึ่งคน

            4.กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อหนึ่งคน

            5.ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อหนึ่งคน

            6.ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน (เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น)

( ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประสบภัยจากรถ ที่เป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่า

สินไหมทดแทนไม่เกิน ค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น  )

พบกับบทความที่มีประโยชน์และสาระความรู้เรื่องของประกันได้ในรายการ เคลมได้ป่ะ!? ที่ช่อง YouTube ของ กรุงศรี ออโต้ นะครับhttps://www.youtube.com/watch?v=mNFbeuGIb4s&list=PLoHwRneB14sgdtabcCV54FeBSmW0T-BHD