EP14 คนร้าย จี้ชิงรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ ประกันรับผิดชอบหรือไม่

27/01/2023 10:14 น.


 

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่บ้านเราปัจจุบันนี้ หลายธุรกิจประสบปัญหาต้องปิดกิจการ เป็นเหตุคนตกงานเป็นจำนวนมาก  ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าว เรามักจะได้ยินข่าว มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นคดี ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือ ปล้นทรัพย์  จากปัญหาทางคดีอาญาที่เกิดขึ้น เราคงได้เห็นจากข่าวมีความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน  ซึ่งความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

             

            ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นมีความสำคัญกับเราอย่างไร หากคนร้าย จี้ชิงรถ และคนร้ายนำรถของเราไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย และรถเกิดอุบัติเหตุขึ้น หากรถของเรามีประกันภัย ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และความเสียหายรถยนต์คันเอาประกันภัย  เป็นเรื่องที่หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่า เมื่อรถเราถูกคนร้ายนำรถไปก่อคดีอาชญากรรม และเมื่อมีความเสียหายขึ้น  บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่  และในวันนี้ผมขอพูดถึงเรื่อง “คนร้าย จี้ชิงรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ ประกันรับผิดชอบหรือไม่?”

            ในเรื่องของปัญหาคดีอาชญากรรม ที่รถของเราไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์  เมื่อถูกคนร้ายจี้ชิงรถ หรือ ปล้นรถรถเราไป และคนร้ายนำรถไปก่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เมื่อรถของรถมีประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่

หากรถยนต์ ที่คนร้ายจี้ชิงรถยนต์คันเอาประกันภัยไป ในเรื่องของการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ได้กำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้น ในเรื่องของการนำรถมาใช้ และเข้าใช้รถ ระหว่างการใช้รถนั้น เป็นเหตุให้มีผู้ประสบภัยได้รับอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  หรืออนามัย   และทรัพย์สินบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย    รวมความเสียหายของรถยนต์คันเอาประกันภัย   จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่

            บุคคลที่บริษัทประกันภัยจะถือว่าบุคคลใด ซึ่งขับขี่รถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันเอง และบุคคลนั้นต้องปฎิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง

            แต่เมื่อรถจักรยานยนต์ หรือ รถยนต์ คันเอาประกันภัยถูกคนร้าย ลักรถ จี้ชิงรถ หรือ ปล้นรถไป ก่อควมเสียหายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ร่างกาย หรือ ทรัพย์สินบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัย ก็จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอก แต่ในส่วนความเสียหายของรถคันเอาประกันภัย ก็ต้องไปดูว่า รถจักรยานยนต์ หรือ รถยนต์ได้ทำประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ซึ่งคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถ ว่าด้วยรถสูญหาย ไว้หรือไม่  หากได้ทำประกันภัยไว้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวรถคันเอาประกันภัยก็ได้รับความคุ้มครอง ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

            การคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรือ อนามัย  ของผู้ประสบภีย ผมขออธิบายความเข้าใจในเรื่องของความคุ้มครองต่อความรับผิดของผู้ประสบภัย โดยแยกรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ และ ภาคสมัครใจ ดังนี้นะครับ

            ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ ( พรบ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ )

            ความเสียหายที่เกิดจากรถ ที่ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ กรณีรถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเหตุให้มีผู้ประสบภัย ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เป็นรถที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของเจ้าของรถ บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ประสบภัย แต่หากกรณีนั้นเจ้าของรถ ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อ พนักงานสอบสวนถึงเหตุที่ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้ประสบภันมีสิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 23 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

            โดยมาตรา 23  ได้กำหนดความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัยจากรถในกรณีดังต่อไปนี้ ให้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากเงินกองทุน

(๒) รถนั้นมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถในขณะที่เกิดเหตุเพราะ ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์รีดเอาทรัพย์ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์และได้มีการ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน            

ส่วนการประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ

ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย  บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหม     ทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่   แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น

เช่นเดียวกับความเสียหายต่อทรัพยสิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายต่อทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

ดังนั้นหากความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถในทางที่ผิดกฎหมาย โดยถูกคนร้ายจี้ชิงรถยนต์ หรือปล้นรถยนต์คันเอาประกันภัยไป ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่   บริษัทประกันภัย จะรับผิดชอบเมื่อบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ขับขี่ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย เมื่อคนร้ายได้นำรถยนต์คันเอาประกันภัยไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรับผิดของบุคคลภายนอก

แต่ในส่วนของความเสียหายรถยนต์คันเอาประกันภัย หากคนร้ายได้จี้ชิงรถยนต์ หรือปล้นรถยนต์คันเอาประกันภัยไปและเกิดความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย แม้จะเป็นการใช้รถโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังคงได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะคนร้ายจี้ชิงรถยนต์ หรือปล้นรถยนต์ คันเอาประกันภัยไป ให้ได้รับความคุ้มครองในเรื่องของรถยนต์สูญหายครับ ( การสูญหายของรถยนต์คันเอาประกันภัย จะได้รับการคุ้มครอง ต้องเป็นการสูญหายจาก การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ )

สรุป

การประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ ผู้ประสบภัย สามารถร้องขอในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น ได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ หากผู้เอาประกันภัยได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว

แต่ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ หากคนร้ายจี้ชิงรถยนต์ หรือปล้นรถยนต์คันเอาประกันภัยไป ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น  ต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย และทรัพย์สินบุคคลภายนอก ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยให้ได้รับการคุ้มครองอันเกิดจากการสูญหายของตัวรถยนต์ เนื่องจากคนร้ายจี้ชิงรถยนต์ หรือปล้นรถยนต์คันเอาประกันภัยไปครับ

พบกับบทความที่มีประโยชน์และสาระความรู้เรื่องของประกันได้ในรายการ เคลมได้ป่ะ!? ที่ช่อง YouTube ของ กรุงศรี ออโต้ นะครับhttps://www.youtube.com/watch?v=mNFbeuGIb4s&list=PLoHwRneB14sgdtabcCV54FeBSmW0T-BHD