EP71 เคลมได้ป่ะ!? เมาแล้วขับ ประกันภัยปฎิเสธความรับผิดชอบได้หรือไม่

27/01/2023 10:14 น.


 

เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ในประเทศไทย คงหนีไม่พ้นสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากเรื่องของการดื่มแอลกอออล์แล้วขับ  นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิต  ร่างกาย  และทรัพย์สิน  เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็มักจะพูดคำว่า “ผมขอโทษ”  “ผมขออโหสิกรรมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”   “อุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิด”  คำพูดเหล่านี้ มักจะพูดเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้ว แต่ก่อนจะเกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน  ผู้ขับขี่รถทุกคนก็ ไม่ควรจะดื่มแอลกอออล์ เมื่อต้องขับขี่รถ ทุกปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กว่า 20,000 ราย ในจำนวนนี้ 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด (มากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

การขับขี่รถเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน   ผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคน ไม่ควรดื่มแอลกอออล์ในขณะขับขี่รถ  แม้หลายคนอาจจะคิดว่า  เราดื่มแอลกอฮอล์ไม่มาก  ก็สามารถควบคุมรถได้   จริงๆแล้ว  แม้เราจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่มาก  ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา    

เพื่อรักษาชีวิต ร่างกายของเรา รวมถึงบุคคลอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัวของเรา หรือบุคคลภายนอก ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายจากการขับขี่รถยนต์ของเราในขณะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย หลายท่านคงทราบดีนะครับว่า ตามที่กฎหมายได้มีบทลงโทษกับผู้ขับขี่รถ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ และยังผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ด้วยนะครับ  ปัจจุบันนี้แม้จะมีการเพิ่มบทลงโทษกับผู้ขับขี่ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง  10  ปี  แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ขับขี่รถ เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด

เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ถูกตรวจวัดปริมาณแอลกอออล์เกินที่กฎหมายกำหนด  บริษัทประกันภัย  จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่   เป็นเรื่องที่หลายคนมีข้อสงสัย   และในวันนี้ ผมขอพูดถึงเรื่อง เมาแล้วขับ บริษัทประกันภัยปฎิเสธความรับผิดชอบได้หรือไม่

             ในเรื่องของการประกันภัยรถยนต์ ข้อยกเว้นในส่วนแอลกอฮอล์ ได้กำหนดอยู่ในหมวด การยกเว้นการใช้อื่นๆต่อรถยนต์ ไว้ว่า

             “ การขับขี่โดยบุคคลซึ่งขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”

เป็นข้อยกเว้นของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 นายทะเบียนอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 จึงออกคำสั่งที่ 11/2560 เรื่องให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย โดยปรับแก้ข้อยกเว้นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2551 ข้อ 2 และ ข้อ 3 (เดิม) "การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150  มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์" สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
            แก้ไขข้อความเป็น "การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์" ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก   พ.ศ. 2522   กำหนดให้ถือว่า   "เมาสุรา"   ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเสียหาย หากผลตรวจวัดแอลกอออล์ผู้ขับขี่รถมีปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่

รถที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ที่มีประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจ ผมขออธิบายถึงเรื่องความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นดังนี้ นะครับ

การประกันภัยรถยนต์ จะแบ่งประเภทของการประกันภัย ออกเป็น  2  ภาค  คือ

1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ

2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

            ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ไม่มีเงื่อนไขข้อยกเว้น กำหนดเรื่องของผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือดเกิน  50  มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไว้   ดังนั้น  หากผู้ขับขี่ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ หรือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ขับขี่รถเกิดอุบัติเหตุมีผู้ประสบภัยได้รับอันตรายต่อชีวิต   ร่างกาย   หรืออนามัย   บริษัทประกันภัยไม่สามารถปฎิเสธความรับผิดได้ ไม่ว่าผู้ประสบภัยจะเป็นผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบทั้งในส่วนของค่าเสียหายเบื้องต้น  และส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น       ด้วยเหตุนี้    เลยเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่รถ  เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ยังไงบริษัทประกันภัย ก็ยังคงต้องรับผิดชอบ จึงทำให้สถิติอุบัติเหตุ เมาแล้วขับ เกิดขึ้นกับรถยนต์   และจักรยานยนต์  เป็นจำนวนมาก  ที่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ  เพราะผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น บริษัทประกันภัยก็ยังคงต้องรับผิดชอบ

            แต่ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ได้กำหนดข้อยกเว้น หากผู้ขับขี่รถ ในขณะเกิดอุบัติเหตุมีปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันภัยสามารถปฎิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายของรถยนต์ รวมถึงความเสียหายต่อบุคคลภายนอกได้  แต่ในส่วนของความเสียหายต่อบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัย จะยกเอาเงื่อนไขข้อยกเว้นในเรื่องของแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถมาปฎิเสธต่อความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ บริษัทประกันภัยยังคงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกไปก่อน แล้วไปเรียกร้องคืนจากผู้ขับขี่รถในภายหลัง

            ดังนั้นเมื่อผู้ขับขี่รถมีปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัยแล้ว บริษัทประกันภัยสามารถปฎิเสธความรับผิดชอบในความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยได้ แต่ในส่วนความเสียหายต่อบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับผิดชอบในส่วนของบุคคลภายนอกไปแล้ว ก็สามารถเรียกกคืนจากผู้ขับขี่รถได้เช่นเดียวกัน

            สำหรับประเด็นปัญหาในเรื่องของปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นั้นบริษัทประกันภัยจะปฎิเสธความรับผิดชอบได้ จะต้องมีผลตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ หากไม่มีผลตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์แล้ว บริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถปฎิเสธความรับผิดชอบได้

ในเรื่องของการตรวจวัดปริมาณแอลกอออล์ หากมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ ด้วยวิธีการเป่า และผลตจรวจวัดออกมามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันภัย สามารถปฎิเสธความรับผิดชอบได้หรือไม่ เมื่อเงิ่อนไขกรมธรรม์ระบุต้องมีผลตรวจวีดปริมาณแอลกอออล์ในเส้นเลือด

แม้เงื่อนไขข้อยกเว้น ได้กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด ไว้ แต่ผู้ขับขี่ถูกตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ ด้วยวิธีการเป่า  แต่วิธีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ สามารถตรวจวัดได้ 3 วิธี คือ

1.ทางเส้นเลือดโดยตรง

2.ทางปัสสาวะ

3.ทางลมหายใจโดยการเป่าออกจากทางปาก

            สรุปคือไม่ว่าจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าผลตรวจวัดปริมาณแอลกอออล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันภัยสามารถปฎิเสธความรับผิดชอบตามเงื่อนไขข้อยกเว้นดังกล่าวได้ครับ

แต่กรณีมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด  มากกว่า  1  ครั้ง  หรือมากกว่า 2 วิธี หากผลตรวจวัด แอลกอออล์ออกมาไม่เท่ากัน ให้ใช้ผลตรวจครั้งแรก แต่หากไม่สามารถพิสูจน์เวลาการตรวจ  ก่อน – หลัง ได้ ให้ใช้ผลตรวจที่ต่ำกว่าในการพิจารณา หรือ กรณีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ 1-2 ชั่วโมงแล้วพบว่า ผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดใกล้เคียง 50  มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  บริษัทประกันภัย  จะนำหลักการวิจัยเรื่องการลดลงของแอลกอออล์ในเส้นเลือด ว่าขณะขับขี่ผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัย มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แม้ตามหลักวิชาทางการแพทย์  ใน 1 ชั่วโมงร่างกายจะกำจัดแอลกอออล์ได้ 15  mg%  ซึ่งการลดดังกล่าวในแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สภาพตัว โรคภัยและน้ำหนักตัว ดังนั้นเมื่อวัดได้เท่าไร ให้ยึดตัวเลข ณ เวลาที่วัด โดยบริษัทประกันภัย จะเอาผลการวิจัยมาประกอบการพิจารณาเพื่อปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ครับ

ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องของการขับขี่รถ เมื่อผู้ขับขี่ดื่มแอลกอออล์ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางเรียกกลับคืนมาได้  ขอให้ทุกคนเห็นสำคัญในเรื่องของการขับขี่รถ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา   เมื่อไรคุณดื่มแอลกอฮอล์ จงหยุดขับ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน  และผมอยากจะฝาก ข้อควรระวังในการดื่มแอลกอฮอล์ ระดับแอลกอออล์ในเลือด จะมีผลต่อร่างกายคนเราดังนี้ครับ

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับอาการแสดงของผู้ดื่มสุรา

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (ม.ก.%)

อาการและผลต่อร่างกาย

30

สนุกสนาน ร่าเริง

50

ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว

100

เดินไม่ตรงทาง

200

สับสน

300

ง่วง งง ซึม

400

สลบ อาจถึงตาย

 

ความสัมพันธ์ของระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจร

ระดับแอลกอฮอล์

ในเลือด(ม.ก.%)

สมรรถภาพในการขับรถ

โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา

20

มีผลเพียงเล็กน้อยเฉพาะบางคน

ใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุรา

50

ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 8

โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็น 2 เท่า

80

ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 12

โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็น 3 เท่า

100

ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 15

โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็น 6 เท่า

150

ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 33

โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็น 40 เท่า

มากกว่า 200

ลดลงเป็นสัดส่วนกับระดับแอลกอฮอล์ในเลือด

ไม่สามารถวัดได้เนื่องจากควบคุมการทดลองไม่ได้

 

ที่มา: มูลนิธิเมาไม่ขับ

ดังนั้นหากคุณมีความจำเป็นที่จะต้องดื่ม ไม่ว่าจะไปงานเลี้ยงสังสรรค์ ควรวางแผนการเดินทางกลับบ้านให้ดี เมื่ไรที่คุณดื่ม ก็ไม่ควรขับรถ  เพื่อความปลอดภัยกับการเดินทาง ผมมีทางออกให้เลือกมากมายที่จะส่งคุณถึงบ้านอย่างปลอดภัย เช่น ใช้แอปพลิเคชันช่วยส่งคุณถึงบ้าน  U drink I drive หรือบริการรับส่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ Taxi ที่ช่วยให้คุณถึงที่พักอย่างปลอดภัยครับ ต่อให้คุณคิดว่าตัวคุณเองนั้นดื่มเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เมาเลย ก็ไม่ควรที่จะขับรถ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว นอกจากบริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครองแล้ว คุณยังมีโอกาสที่จะไปนอนในคุกแทนนอนที่บ้านนะครับ

พบกับบทความที่มีประโยชน์และสาระความรู้เรื่องของประกันได้ในรายการ เคลมได้ป่ะ!? ที่ช่อง YouTube ของ กรุงศรี ออโต้ นะครับhttps://www.youtube.com/watch?v=mNFbeuGIb4s&list=PLoHwRneB14sgdtabcCV54FeBSmW0T-BHD