เช็ครถก่อนเดินทางไกล

26/01/2022 15:41 น.

สรุปให้อ่านง่าย

รวม 6 จุดต้องเช็คก่อนเดินทางไกล

1. เช็คยางรถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประหยัดเชื้อเพลิง เติมลมยางเพิ่ม 3-5 PSI ดูความลึกดอกยางให้ไม่น้อยกว่า 1.6 มม. และเติมลมยางอะไหล่ให้เรียบร้อยก่อนล้อหมุน
2. 
เช็คผ้าเบรค โดยทั่วไปต้องเปลี่ยนทุกๆ 25,000 - 50,000 กม. (ตามพฤติกรรมการใช้รถ) ความชื้นสูงส่งผลต่อคุณภาพน้ำมันเบรค จึงควรตรวจน้ำมันเบรคหลังหมดฝน
3. 
เช็คที่ปัดน้ำฝนด้วยการสัมผัส สังเกต ฟังเสียง ดูระยะห่างของที่ปัดน้ำฝนและกระจก โดยทั่วไปยางที่ปัดน้ำฝนใช้งานได้ 6-12 เดือน
4. 
เช็คไฟรถยนต์ ทั้งไฟหน้ารถ ไฟเบรค ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟสัญญาณทุกดวงว่าใช้งานได้ปกติ โคมไฟที่มีไอน้ำเกาะหรือหมองเหลือง จัดการได้ด้วยกาวซิลิโคนใส ยาสีฟัน ฯลฯ
5. 
เช็คแบตเตอรีรถยนต์แบบแห้งผ่านตาแมว หรือเช็คแบบ Virtual
6. เช็คเอกสารจำเป็น ได้แก่ ใบอนุญาตขับขี่ สำเนาทะเบียนรถ กรมธรรม์ประกันภัยตัวจริงหรือสำเนา และป้ายภาษีรถยนต์ บันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ในมือถือ และอย่าลืมติดของใช้อื่นๆ เช่น แว่นตากันแดด ที่ชาร์จมือถือสำหรับรถยนต์ ไฟฉาย ไขควง ไว้ในรถด้วย

แนะนำ 6 วิธีขับขี่ปลอดภัย

1. อย่าฝืนขีดจำกัดในการขับรถของตนเอง
2. 
ต่อให้ระวังแค่ไหนการขับเร็วก็ไม่อาจเลี่ยง “วิสัยทัศน์อุโมงค์” และเสี่ยงอุบัติเหตุ
3. 
เหนื่อยต้องพัก นอนให้พออย่างน้อย 8 ชม. หากง่วงอย่าฝืนขับ ดับรถแล้วนอนพักในที่ปลอดภัย
4. 
ดื่มน้ำผลไม้ที่มีวิตามินซีแทนกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง
5. 
เลี่ยงขับใกล้รถบรรทุกที่มีจุดบอดรอบคัน โดยเฉพาะด้านซ้ายที่อันตรายที่สุด
6. 
อย่าใช้ไฟฉุกเฉินผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะขณะฝนตกหนักหรือหมอกจัด

ในบทความตอนที่แล้วเรื่อง ปิดเทอม 2562 พาลูกเที่ยวไหนดี กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ ได้แนะนำที่เที่ยวแนวกิจกรรมใกล้กรุงที่เหมาะสำหรับการพาครอบครัวไปท่องเที่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาว ในตอนนี้เราจึงขอนำ จุดต้องเช็คก่อนเดินทางไกล เพื่อให้คุณเช็ครถด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งทราบเคล็ดลับการทำความสะอาดชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ของรถยนต์ และ วิธีขับขี่ปลอดภัย เพื่อสวัสดิภาพของทุกคนในทริป ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันเหตุการณ์รถเสียกลางทางที่นอกจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและเสียเวลาแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์อีกด้วย

จากสถิติโดยสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุคือผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด การหลับใน การตัดหน้าระยะกระชั้นชิด และอุปกรณ์รถบกพร่อง ซึ่งสาเหตุสุดท้ายนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ด้วยการเช็ครถก่อนเดินทางไกลด้วยตนเองตามเช็คลิสต์ต่อไปนี้

1. ยางรถยนต์

ยางรถยนต์สำคัญอย่างไร

  • ยางควบคุมการหยุดรถ

ยางเป็นจุดเดียวที่เชื่อมต่อรถกับพื้นถนน แม้จุดที่ยางสัมผัสกับถนนจะกว้างเพียงฝ่ามือเดียวแต่ก็รับหน้าที่ในการยึดเกาะถนน รีดน้ำ และรักษาการควบคุมรถ ยางจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบด้านความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด แต่ผู้ขับขี่หลายๆ ท่านมักมองข้ามเรื่องการเช็คลมยางและสภาพของยาง ทั้งที่แท้จริงแล้วการขับขี่รถที่มีแรงดันลมยางไม่เหมาะสมหรือสภาพยางสึกหรอส่งผลต่อการควบคุมรถและการเบรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพถนนเปียกช่วงปลายฤดูฝน

  • ลมอ่อนเสี่ยงยางระเบิด 
    การขับขี่รถที่ยางอ่อนเกินไปอาจทำให้ยางเกิดความร้อน อากาศภายในยางเกิดขยายตัวและเสี่ยงยางระเบิดจนเสียการควบคุมรถ  ซึ่งอันตรายมากโดยเฉพาะเมื่อขับรถทางไกลด้วยความเร็วสูง
  • ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง
    นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยางที่มีความดันลมยางต่ำจะมีแรงต้านทานการหมุนที่สูงขึ้น จึงต้องใช้แรงเครื่องยนต์มากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ นั้่นหมายความว่า สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ทั้งยังทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร

ข้อแนะนำเรื่องยางรถยนต์

  • หมั่นเช็คและเติมลมยางทุกเดือน ดูความดันลมยางที่แนะนำได้จากคู่มือผู้ใช้รถ สติกเกอร์บนประตูคนขับหรือประตูถังน้ำมันเชื้อเพลิง
  • ตรวจสภาพดอกยางรถยนต์เป็นประจำ ความลึกดอกยางต่ำสุดตามกฎหมายคือ 1.6 มม.
  • ควรสลับยางทุกๆ 10,000 กิโลเมตร เพื่อให้ยางสึกสม่ำเสมอและยืดอายุการใช้งาน
  • งดบรรทุกสัมภาระที่ไม่จำเป็นหรือติดรถไว้นานๆ
  • ก่อนเดินทางไกล ควรเพิ่มแรงดันยาง 3-5 ปอนด์/ตารางนิ้ว (psi)
  • อย่าลืมตรวจสอบยางอะไหล่ (และเติมลมด้วย) เช่นเดียวกับอุปกรณ์เปลี่ยนยาง ถ้าจะให้ดี นำที่เติมลมแบบพกพาเพื่อความอุ่นใจติดไปด้วย


2. ผ้าเบรค

ผ้าเบรคสำคัญอย่างไร

ยางกับผ้าเบรคเป็นของคู่กัน เพราะต่างช่วยกันทำหน้าที่ชะลอความเร็วรถด้วยการสร้างแรงเสียดทาน สำหรับผู้ขับขี่ทั่วไปแล้ว ผ้าเบรคอาจดูเหมือนอุปกรณ์ที่เราตรวจสอบเองได้ยาก แต่จริงๆ แล้วพอจะสังเกตได้จากการฟังเสียง หากเบรกแล้วเกิดเสียงเหมือนโลหะเสียดสีกัน อาจถึงเวลาต้องตรวจสอบความหนาของผ้าเบรคแล้ว รถบางรุ่นจะมีไฟเตือนโชว์ด้วย

 ข้อแนะนำเรื่องเบรก

  • ควรตรวจสอบผ้าเบรคทุก 3 เดือน และเปลี่ยนผ้าเบรคเมื่อผ้าเบรคหนาน้อยกว่า 4 มม. หรือทุกๆ 25,000 - 50,000 กม. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและสภาวะในการขับขี่ด้วย เช่น หากจอดรถหรือขับรถลุยน้ำท่วมนานๆ ผ้าเบรคอาจมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือหากมีพฤติกรรมการขับรถแบบขับๆ เบรกๆ หรือขับด้วยความเร็วสูงแล้วเหยียบเบรกแรงๆ ย่อมทำให้ผ้าเบรคสึกเร็วกว่าปกติ

ช่วงปลายฝน น้ำมันเบรกอาจมีความชื้นในอากาศปะปน ส่งผลให้คุณภาพของน้ำมันเบรกเสื่อมลง ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกปีละ 1 ครั้ง และเมื่อหมดหน้าฝนแล้ว อย่าลืมพารถคู่ใจไปตรวจน้ำมันเบรกด้วย 

3. ที่ปัดน้ำฝน

ที่ปัดน้ำฝนสำคัญอย่างไร

  • ช่วยเรื่องทัศนวิสัย

เมื่อพูดถึงความปลอดภัยในการขับรถยนต์แล้ว ที่ปัดน้ำฝนมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม ทั้งที่แท้จริงแล้วทัศนวิสัยขณะขับรถคือหนึ่งในหัวใจสำคัญในการควบคุมรถอย่างปลอดภัย และการใช้ที่ปัดน้ำฝนที่เสื่อมสภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการใส่แว่นตาที่เลนส์พร่ามัวหรือไม่เหมาะกับค่าสายตา

  • ช่วยรักษากระจกหน้ารถ

หากฝืนใช้ใบปัดน้ำฝนที่เสื่อมสภาพจะทำให้กระจกหน้ารถเกิดรอยขีดข่วนและสึกหรอตามไปด้วย แน่นอนว่าการเปลี่ยนกระจกหน้ารถนั้นต้องเสียเงินหลักหมื่น ดังนั้น หมั่นเปลี่ยนยางที่ปัดน้ำฝนทุก 6-12 เดือนตามการใช้งาน หรือเมื่อเสื่อมสภาพ อย่าเสียน้อยเสียยากแล้วต้องมาเสียดายเงินหรือชีวิตกันทีหลัง

ข้อแนะนำเรื่องที่ปัดน้ำฝน

ที่ปัดน้ำฝนยังใช้การได้ดีหรือไม่ดูได้จากการสัมผัส สังเกต และฟังเสียง รวมทั้งระยะห่างของที่ปัดน้ำฝนและกระจก

  • ลองจับบริเวณยางที่ปัดน้ำฝนว่าแข็งกระด้างหรือยัง
  • สังเกตว่าขณะใช้งาน ใบปัดน้ำฝนช่วยรีดน้ำออกจากกระจกได้อย่างหมดจดโดยไม่สะดุดหรือไม่ หากยังทิ้งละอองน้ำ รอยคราบน้ำครึ่งวงกลม แสดงว่าต้องเปลี่ยนยางปัดน้ำฝน
  • ลองฟังดูว่าเสียงที่ปัดน้ำฝนขณะรีดน้ำออกจากกระจกรถนั้นดังเกินไปหรือไม่ เพราะนั่นคือสัญญาณว่ายางปัดน้ำฝนอาจชำรุดหรือเสื่อมสภาพ และถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว แต่ก่อนอื่นต้องแน่ใจว่าเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากที่ปัดน้ำฝนแนบกับกระจกมากเกินไป ลองตรวจสอบมุมและระยะให้ไม่ห่างหรือชิดจนเกินไป
  • ถนอมที่ปัดน้ำฝนด้วยการหาที่จอดในร่ม เพราะแสงแดดทำให้ยางเสื่อมสภาพเร็ว
  • การยกก้านที่ปัดน้ำฝนขึ้นทุกวันจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้จริงหรือ แท้จริงแล้วการยกก้านที่ปัดน้ำฝนเกินความจำเป็นอาจทำให้สปริงเสื่อมสภาพและลดประสิทธิภาพในการควบคุมการปัดน้ำฝนลง เมื่อพิจารณาว่าสปริงราคาสูงกว่าที่ปัดน้ำฝน จึงอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
  • หากจำเป็นต้องเปลี่ยนก้านที่ปัดน้ำฝน ควรเลือกชนิดที่เป็นโลหะทั้งชิ้น เพราะน้ำหนักของโลหะจะช่วยเรื่องการรีดน้ำและประสิทธิภาพการใช้งานขณะขับรถด้วยความเร็วสูง

4. ไฟรถยนต์

ไฟรถยนต์สำคัญอย่างไร

มาต่อกันที่เรื่องไฟรถยนต์ อุปกรณ์ที่สำคัญต่อทัศนวิสัยและการให้สัญญาณบนท้องถนน ไฟหน้ารถและไฟท้ายรถสำคัญมากต่อการขับขี่ในตอนกลางคืน ส่วนไฟเบรค ไฟเลี้ยวและไฟฉุกเฉิน หากใช้อย่างตามวัตถุประสงค์และระยะที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ตามข้อมูลจากกองบังคับการตำรวจจราจรที่ชี้ให้เห็นว่า การไม่เปิดไฟขณะจอด ชะลอ หรือเลี้ยวรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 700 คน/ปี

ข้อแนะนำเรื่องไฟรถ

  • ก่อนออกเดินทาง ทดสอบไฟหน้ารถ ไฟเบรค ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟสัญญาณทุกดวงว่าใช้งานได้ตามปกติ ไม่หรี่หรือกะพริบ
  • ในช่วงปลายฝนเช่นนี้ รถที่มีอายุการใช้งานมาพอสมควรอาจมีปัญหาเรื่องโคมไฟมีไอน้ำเข้าไปเกาะ อันเกิดจากยางหรือซิลิโคนรอบโคมไฟเสื่อมสภาพ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการใช้กาวซิลิโคนแบบใสช่วยประสานรอยต่อ แต่หากมีน้ำเข้าไปขัง ต้องจัดการถอดโคมออกมาเทน้ำออกให้หมดก่อน
  • ไฟหน้ารถที่เหลืองและหมองมีผลต่อทัศนวิสัย ไม่ว่าจะเพราะจอดรถกลางแดดบ่อย ขับรถกลางคืนบ่อย หรือจากมลภาวะ ก็สามารถ DIY ให้กลับมาใสปิ๊งได้ด้วยการแกะออกมาทำความสะอาดด้วยยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาขัดสีรถหรือกระดาษทราย

ระหว่างทดสอบไฟ ลองบีบแตร 2-3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบการใช้งานเช่นกัน

5. แบตเตอรีรถยนต์

แบตเตอรีรถยนต์สำคัญแค่ไหน

หากขาดแบตเตอรีรถยนต์ย่อมไม่มีกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ แบตเตอรีแบบเปียกและแบบแห้งมีอายุการใช้งานต่างกันไป แบบเปียกคือไม่เกิน 3 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา) ส่วนแบบแห้งใช้ได้เกือบ 10 ปี แต่มีราคาสูงกว่า

ข้อแนะนำเรื่องแบตเตอรี

ออกทริปทั้งทีคงหมดสนุกแน่หากสตาร์ทรถแล้วเงียบกริบ หากคุณจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เปลี่ยนแบตเตอรีรถคือเมื่อใด ก่อนเดินทางไกลแล้วแบตเตอรีรถหมดกลางทาง เรามีวิธีเช็คเบื้องต้นแบบไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาแนะนำ

  • วิธีง่ายที่สุดคือสังเกตสัญลักษณ์เตือนรูปแบตเตอรี่บนหน้าปัด หากมีไฟปรากฏแสดงว่าแบตเตอรีและระบบไฟมีปัญหา
  • ดูที่ขั้วแบตเตอรีว่ามีคราบขี้เกลือขึ้นหรือไม่ เพราะขี้เกลืออาจทำให้ระบบเดินไฟไม่สะดวก
  • สำหรับแบตเตอรีแบบแห้ง ดูที่ตาแมวแบตเตอรีเป็นแนวทางได้ ซึ่งแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันไป
  • สังเกตว่ารถเริ่มสตาร์ทติดยากหรือระบบไฟในรถผิดปกติหรือไม่
  • ทดสอบแบตเตอรีแบบ virtual 

6. อุปกรณ์ติดรถยนต์อื่นๆ

นอกเหนือจากยางรถยนต์ ผ้าเบรค ที่ปัดน้ำฝน ไฟรถและแบตเตอรี ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องตรวจเช็คเบื้องต้นแล้ว ยังมีสิ่งของที่ควรมีติดรถไว้ก่อนขับรถเที่ยว

  • เอกสารสำคัญ
    ตรวจดูเอกสารสำคัญว่ายังไม่หมดอายุ อาทิ ใบอนุญาตขับขี่ สำเนาทะเบียนรถ กรมธรรม์ประกันภัยตัวจริงหรือสำเนา และป้ายภาษีรถยนต์

     
  • เบอร์โทรฉุกเฉิน
    เซฟเบอร์โทรฉุกเฉินเหล่านี้ไว้เผื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด
  • 1669 สายด่วนอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน
  • 1586 สายด่วนกรมทางหลวง แจ้งอุบัติเหตุหรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
  • 1586 กด 7 สายด่วนมอเตอร์เวย์ 
  • 1193 ตำรวจทางหลวง
     
  • แว่นกันแดด
    แว่นกันแดดก็สำคัญต่อความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะแสงแดดที่แยงตาขณะขับรถทำให้กล้ามเนื้อสายตาของคนขับเมื่อยล้าจนพาลให้ง่วงนอนได้ หรือบางครั้งอาจทำให้มองไม่เห็นสิ่งกีดขวางได้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุรถยนต์ขณะขับรถทางไกล ติดแว่นตากันแดดคู่ใจไปด้วยทุกทริป แต่ต้องดูให้แน่ใจว่าแว่นกันแดดคุณป้องกันรังสี UV ได้ 99-100% ตามที่ ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก แนะนำไว้ว่า แว่นกันแดดที่เหมาะกับการขับรถต้องเปลี่ยนสีวัตถุน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เห็นแสงไฟจราจรผิดเพี้ยนไป เช่น สีเทาจะซึมสีที่เห็นด้วยตาสม่ำเสมอเท่ากัน สีไฟจราจรหรือวัตถุที่เห็นจึงเหมือนเดิม

     
  • อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ที่ชาร์จมือถือสำหรับรถยนต์ ไฟฉาย ไขควง กล้องติดรถยนต์ ฯลฯ

วิธีขับรถปลอดภัย

1. รู้ขีดจำกัดของตนเอง

หากคุณเคยขับรถได้ไกลที่สุด 300 กิโลเมตรต่อวัน การวางแผนขับทางไกลเกินกว่าขีดจำกัดมาก เช่น 600 กิโลเมตรต่อวัน อาจทำให้เกิดความเครียด ร่างกายเหนื่อยล้า ต้องเร่งทำความเร็วมากกว่าที่เคย ฯลฯ และอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้

2. ช้าหน่อยแต่ชัวร์กว่า

แม้สถิติล่าสุดของกรมทางหลวงจะชี้ให้เห็นว่า 66% ของการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เกิดจากผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด แต่คนขับรถส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับว่า ตนขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด และ 1 ใน 3 ยังมีทัศนคติที่ผิดว่า การขับรถเร็วไม่อันตรายหากเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งขับเร็วยิ่งทำให้ลานสายตาแคบลง หรือที่เรียกกันว่า “วิสัยทัศน์อุโมงค์” เช่น ถ้าขับรถที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง องศาการมองเห็นจะลดลงเหลือแค่ 50 องศา และหากมีวัตถุตัดหน้ากะทันหัน จะมีเวลาเพียง 2 วินาที ในการตัดสินใจแตะเบรก (สายตามองเห็น-สมองตัดสิน-เท้าเหยียบเบรก) และต้องใช้ระยะเบรกทั้งหมด 83 เมตร จึงยากที่คนขับจะเบรกรถได้ทัน หากมีเหตุตัดหน้ากระชั้นชิด

3. จอดพักเหนื่อยในที่ปลอดภัย

ก่อนขับทางไกล ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่หากง่วงเกินไป อย่าฝืนขับต่อเพราะอาจเสี่ยงหลับใน ให้หยุดนอนพักในจุดที่ปลอดภัย อย่าจอดแวะรถงีบบนไหล่ทางเด็ดขาด การขับบนไหล่ทางก็เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นและต่อตัวผู้ขับขี่เอง พึงระลึกไว้เสมอว่าไหล่ทางเป็นช่องทางพิเศษสำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

4. เลี่ยงกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า การดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณที่มากเกินไป เช่น ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวันจะทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนเกินปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังแม้จะทำให้ร่างกายตื่นตัว แต่การดื่มบ่อยๆ จะส่งผลในระยะยาว เพราะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ ลองเปลี่ยนมาดื่มน้ำผลไม้หรือรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าจากความเครียดและความวิตกกังวลขณะขับรถได้

5. เลี่ยงการขับตามรถบรรทุก 

ขณะขับรถทางไกล คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอรถบรรทุกเป็นระยะ รอบรถบรรทุกมีจุดบอดที่คนขับรถควรระวังเป็นพิเศษตามคำแนะนำของตำรวจทางหลวง ดังนี้

  • ด้านหน้าของรถบรรทุก อย่าลืมว่ารถบรรทุกนั้นสูงจึงมองไม่เห็นรถหรือวัตถุด้านหน้าที่อยู่ในระยะประชิด หากต้องการแซง จึงต้องเว้นระยะห่าง 3-4 คันของรถยนต์
  • ด้านขวาของรถบรรทุก อีกหนึ่งจุดบอดของรถบรรทุกคือด้านขวา เลี่ยงการขับขนาบด้านขวาของรถบรรทุกเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  • ด้านซ้ายของรถบรรทุก ถือเป็นพื้นที่อันตรายที่สุดเพราะกระจกมองข้างด้านซ้ายอยู่ห่างจากคนขับ ควรหลีกเลี่ยงการขับขนาบด้านซ้ายของรถบรรทุก
  • ด้านหลังของรถบรรทุก รถเล็กควรอยู่ห่างจากหลังรถบรรทุกอย่างน้อย 10 เมตร เพื่อป้องกันรถบรรทุกเบรกหรือถอยหลังกะทันหัน ป้องกันของตกหล่นจากหลังรถบรรทุก ฯลฯ

6. อย่าใช้ไฟฉุกเฉินผิดวัตถุประสงค์

เพิ่มเติมอีกนิดว่า ขณะฝนตกหนักหรือหมอกจัด หลายๆ คนมักเข้าใจผิดว่าการเปิดไฟฉุกเฉินจะช่วยให้รถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง แท้จริงแล้วการใช้ไฟฉุกเฉินแบบผิดวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะทำให้รถที่ตามมาเข้าใจผิดว่ารถของเราจอดอยู่ ส่วนรถที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือขวาจะเห็นว่าเราเปิดไฟเลี้ยวด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในสภาวะเช่นนี้คือชะลอรถ เปิดไฟหน้าและเพิ่มระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น

ไทยติดอันดับ ประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด และมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลจากรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ. 2558 โดยกรมการขนส่งทางบก) แต่เราทุกคนมีส่วนช่วยกันเปลี่ยนสถิตินี้ได้ด้วยการสร้างพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย โดยนอกจากการเตรียมรถให้มีสภาพพร้อมก่อนเดินทางแล้ว ควรเข้าใจวิธีขับขี่อย่างปลอดภัยและลบล้างความเข้าใจผิดเรื่องพฤติกรรมการขับขี่เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุให้มากที่สุด
 

เช็คเบี้ยประกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://m.wikihow.com/Check-Your-Car-Before-a-Road-Trip
https://mgronline.com/qol/detail/9620000036154
http://www.doh.go.th/content/page/news/66933
https://www.facebook.com/highway1193/posts/483046035812301/
http://trso.thairoads.org/statistic/risk/detail/5066
https://www.michelin.co.th/auto/tips-and-advice/why-are-car-tyres-important