รู้ไว้ไม่พลาด คลาย 7 ข้อสงสัยเรื่องค่าเสียหายส่วนแรก (ค่าดีดักและค่าเอ็กเซส)
31/08/2022 09:05 น.
สรุปให้อ่านง่าย
- ค่าดีดักทิเบิล (Deductible) คือค่าความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจที่ใช้เป็นส่วนลดเมื่อต่อประกันรถ รถประกันต้องจ่ายค่าดีดักเมื่อเป็นฝ่ายผิด ส่วนค่าเอ็กเซส (Excess) คือค่าความเสียหายส่วนแรกภาคบังคับที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
- ไม่ต้องจ่ายค่า excess หากรถชนกับยานพาหนะอื่น หรือผู้ขับระบุรายละเอียดคู่กรณีได้ รถเกิดพลิกคว่ำ ชนทรัพย์สินที่ยึดแน่นตรึงกับพื้นดิน หรือชนคนหรือสัตว์
- ต้องจ่ายค่า excess ถ้าเคลมสีรอบคันแบบไม่มีคู่กรณี หรือมีแต่ระบุชัดเจนไม่ได้
- ไม่ต้องจ่ายค่า excess ถ้าขับรถผ่านจุดก่อสร้างแล้ววัสดุหล่นใส่รถ แต่ระบุคู่กรณีและรายละเอียดต่างๆ ได้ เคลมรอบคันก่อนหมดประกันได้จนถึงวันที่ระบุในกรมธรรม์ โดยใบเคลมจะมีอายุ 2 ปี แต่ถ้าเก็บไว้นานเกินไป ต้องระวังเรื่องความเสียหายบานปลาย
- หากเคลมประกันกับบริษัทประกันภัยเดิม แต่อยากต่อประกันกับที่อื่น ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขค่าเสียหายส่วนแรกของที่ใหม่ให้มั่นใจก่อนดำเนินการ
- ประกันภัยรถแบบมีค่าดีดักทิเบิลใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันได้ เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ประวัติดี
สำหรับหลายๆ คนแล้ว เรื่องที่ชวนงุนงงเกี่ยวกับประกันรถคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ค่าเอ็กเซส” (Excess) กับ “ค่าดีดักทิเบิ้ล” (Deductible) หรือแม้กระทั่งเรียกกันไปต่างๆ นานาว่า “ค่าแอคเซส” (Access) “ค่า EXCEPT” หรือแม้กระทั่ง “ค่า ACCEPT” เพื่อปลดล็อคความสับสนในเรื่องนี้ด้วยบทความ “คลาย 7 ข้อสงสัย เรื่องค่าเสียหายส่วนแรก” จาก กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ กันครับ
1. ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร แล้วค่าดีดัก (Deductible) ต่างกับค่าเอ็กเซส (Excess) ไหม
มาเรียกชื่อให้ถูกต้องตามสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า “ค่าเอ็กเซส” และ “ค่าดีดัก” กันนะครับ ทั้งค่าเอ็กเซสและค่าดีดักล้วนเป็นค่าความเสียหายส่วนแรก แต่ “ค่าดีดัก” ที่ภาษาอังกฤษแปลว่า “หักออก” นี้เกิดขึ้นเมื่อคุณ “เลือก” ซื้อประกันแบบที่ใช้ค่าดีดักเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกัน และมีระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ ส่วน “ค่าเอ็กเซส” นั้นเป็นค่าเสียหายส่วนแรก “ภาคบังคับ” ที่ คปภ. กำหนดให้รถประกันร่วมรับผิดส่วนแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี และไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ ทั้งนี้ แล้วแต่เงื่อนไขในประกันภัยเราด้วยครับว่า กำหนดเงื่อนไขความรับผิดกรณีรถเราเป็นฝ่ายผิดไว้อย่างไร
เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีไหนบ้าง มาดูกันครับ
- หากไม่มีคู่กรณีหรือเคลมแห้ง หรือแม้แต่หากคุณเฉี่ยวชนกับรถ แต่ไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้
- หากความเสียหายเกิดจากการกระทบกับวัตถุและสิ่งของ แต่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ
- หากไม่สามารถบอกสาเหตุและที่มาที่ไปของความเสียหายได้อย่างชัดเจน เช่น ถูกคนขูดรถ
- หากรถได้รับความเสียหายเฉพาะพื้นผิวของสีรถ (ลูบดูแล้วไม่มีรอยสะดุดหรือรอยครูดเข้าถึงเนื้อ)
2. ขออนุโลมค่า excess ได้ไหม
หลายๆ คนคงมีคำถามนี้ในใจว่าทำประกันรถก็แล้ว ทำไมยังต้องจ่ายค่า excess อีก โดนประกันหลอกหรือเปล่า คำตอบก็คือ คปภ. ระบุเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกสำหรับอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย จะได้ใช้รถอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาดูกันครับว่าผู้ขับขี่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีไหนบ้าง
- รถชนกับยานพาหนะอื่นและสามารถแจ้งรายละเอียดคู่กรณีได้* (หมายเหตุ บริษัทประกันแต่ละแห่งตีความคำว่าคู่กรณีต่างกัน จึงควรตรวจสอบเงื่อนไขในกรมธรรม์อีกครั้ง)
- รถชนทรัพย์สินที่ยึดแน่นตรึงกับพื้นดิน เช่น ต้นไม้ยืนต้น เสา เสาไฟฟ้า รั้วบ้าน ประตู กำแพง ฟุตบาธ ราวสะพาน ป้ายจราจร
- รถชนคน สุนัขหรือสัตว์
- รถพลิกคว่ำ
- รถชนกองดินหรือหน้าผา
เมื่อเกิดเหตุ ให้รีบแจ้งตัวแทนประกันภัน (เคลมสด) และระบุคู่กรณีให้ได้ หากคุณสามารถแจ้งรายละเอียด เช่น ลักษณะการชน วันเวลาและสถานที่ ให้บริษัทประกันทราบได้ หรือเข้าเงื่อนไขที่ คปภ. ได้ให้คำแนะนำไว้ในย่อหน้าข้างต้นอาจขออนุโลมค่า excess ได้ครับ
3. เคลมรอบคันต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกไหม
เคลมสีรอบคันถ้าไม่มีคู่กรณี หรือมีแต่ไม่สามารถระบุได้ ต้องจ่ายค่า excess ให้แก่บริษัทประกัน บางคนอาจสงสัยว่า ขับรถไปเฉี่ยวพุ่มไม้เป็นรอยหรือโดนหินกระเด็น ต้องเสียค่า excess ไหม พบคำตอบได้ในคลิปนี้เลยครับ
เราไม่ต้องจ่ายค่าเอ็กเซส หากกระทบวัตถุจนรถบุบ แตก ร้าว แต่ถ้าความเสียหายไม่ได้เกิดจากการชน พลิกคว่ำ ถูกคนอื่นกลั่นแกล้ง และไม่สามารถแจ้งคู่กรณีให้บริษัททราบ หรือเสียหายเฉพาะพื้นผิวสีรถ ต้องเสียค่าเอ็กเซส ดังนั้น หากรถเฉี่ยวพุ่มไม้หรือหินกระเด็นใส่ ก่อนอื่นต้องเช็คความลึกตื้นของรอย ถ้าลูบแล้วไม่มีรอยสะดุด แสดงว่าเป็นความเสียหายเฉพาะพื้นผิวของรถ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราต้องรับผิดชอบค่า Excess เอง อย่างไรก็ดี ยังขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถแจ้งได้สาเหตุที่ชัดเจนได้หรือไม่ และบริษัทประกันของคุณตีความคำว่าคู่กรณีอย่างไรด้วยนะครับ จึงควรตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างถี่ถ้วนครับ
4. ขับรถผ่านจุดก่อสร้างแล้ววัสดุหล่นใส่รถ ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก (Excess) ไหม
ช่วงนี้ขับรถไปที่ไหนก็เจอพื้นที่จุดก่อสร้างรถไฟฟ้า ถ้าดวงดีถูกวัสดุก่อสร้างตกใส่รถ แล้วแจ้งได้ว่าก้อนหินตกจากที่ใด ประกอบกับคู่กรณีแสดงความรับผิดชอบจากการทำวัสดุหล่นใส่รถเราแล้วแล้ว เจ้าของรถไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกครับ
5. ควรเคลมรอบคันก่อนหมดประกันกี่วัน และควรใช้สิทธิ์อะไรบ้างก่อนหมดประกัน
การใช้สิทธิ์เคลมรถก่อนหมดประกันกับประกันภัยบริษัทเดิมนั้นทำได้จนถึงวันที่ระบุในกรมธรรม์เลยครับ โดย “ใบเคลม” หรือ “ใบรับรองความเสียหาย” จะมีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่บริษัทประกันภัยออกใบเคลมให้ และเป็นสิทธิของผู้เอาประกันที่จะนำรถเข้าซ่อมภายในอายุความ แม้หมดประกันภัยแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรเก็บใบเคลมไว้นานเกินไปจนความเสียหายบานปลายนะครับ เพราะบริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดชอบหากเกิดความเสียหายลุกลามกว่าที่ระบุไว้ในใบเคลมครับ
6. ถ้าเราเคลมประกันกับเจ้าเดิม แล้วตัดสินใจต่อประกันกับเจ้าใหม่ ค่าเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
หากในปีที่ผ่านมาคุณเคลมประกัน 2 ครั้งขึ้นไป แล้วต่อประกันภัยกับบริษัทประกันที่เดิม เบี้ยประกันย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย แนะนำให้แจ้งเคลมให้เรียบร้อย แล้วก่อนตกลงปลงใจเลือกที่ใหม่ ตรวจสอบให้ดีว่าเบี้ยประกันถูกกว่าจริง (บางที่มีส่วนลดแรกเข้าให้ด้วย) รวมทั้งให้ความคุ้มครองประกันภัยที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการขับรถของคุณ และทำความเข้าใจเงื่อนไขค่าเสียหายส่วนแรกให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจชำระเงินด้วยนะครับ
7. เลือกประกันแบบไหนดี แบบมีหรือไม่มีค่าดีดัก
ก่อนอื่นต้องตอบแบบไม่เข้าข้างตัวเองก่อนว่าพฤติกรรมการขับรถของเราเป็นอย่างไร หากคุณขับรถมาหลายปี มีความชำนาญและขับอย่างมีวินัย ที่ผ่านมาประวัติดีเป็นฝ่ายถูกเสียเป็นส่วนใหญ่ ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย ก็สามารถเลือกเบี้ยประกันแบบมีค่าดีดัก (deductible) ได้อย่างสบายใจ และประหยัดเบี้ยประกันไปได้เยอะเลยครับ ในทางกลับกัน หากคุณยังมือใหม่หรือที่ผ่านมามีประวัติโชกโชนในฐานะฝ่ายผิด การจ่ายค่าดีดักอาจไม่คุ้มค่าส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับครับ
สำหรับนักขับประวัติดี กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ มีตัวเลือกประกันภัยรถราคาเบาๆ แบบมีส่วนลดค่า Deductible ให้เลือกเช่นกันครับ สำหรับรถเก๋งเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 8,595 บาท ทุนประกันสูงสุด 310,000 บาท ค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) 5,000 บาท สำหรับรถกระบะ ค่าเบี้ยประกันภัยเริ่มต้น 8,967 บาท ทุนประกันสูงสุด 170,000 บาท ค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) 5,000 บาท จ่ายค่าดีดักในส่วนนี้เฉพาะเมื่อรถประกันเป็นฝ่ายผิดเท่านั้นครับ
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)