EP22 รถเกิดอุบัติเหตุ ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสื่อมราคาของตัวรถ ค่าเสียเวลาหรือรายได้ที่ขาดหายไป เรียกร้องจากใครได้หรือไม่

25/01/2024 08:45 น.


 

หลายท่านคงปวดใจ เมื่อขับรถอยู่ดี มีรถคันอื่นวิ่งมาชน เป็นเหตุให้รถของเราได้รับความเสียหาย จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถเรา ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีแต่เรื่องทุกข์ใจ ไหนจะต้องเสียเวลารอคอยพนักงานเคลมประกันมาช่วยดูแล และหากเจรจาตกลงค่าเสียหายกันไม่ได้ ก็ต้องไปที่สถานีตำรวจ กว่าเรื่องจะยุติได้ก็คงใช้เวลานาน เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน แต่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะการใช้รถใช้ถนน อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

            แต่ปัญหาความเสียหายของรถเรา เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น การจัดซ่อมรถก็คงต้องใช้เวลานาน และที่สำคัญในระหว่างเราจัดซ่อมรถ เราไม่มีรถใช้จะทำยังงัยดีครับ จะเรียกแท็กซี่มารับมาส่ง ค่าใช้จ่ายก็สูง จะเช่ารถ ก็คงหลายวัน  เรื่องค่าเสียหายในส่วนนี้ เราจะเรียกร้องจากใครได้บ้างครับ  การเสียสิทธิและประโยชน์ในการใช้รถของเรา เราจะให้ใครรับผิดชอบ คงเป็นเรื่องที่หลายท่านมีข้อสงสัย และในวันนี้ผมขอพูดถึงเรื่อง “รถเกิดอุบัติเหตุ ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสื่อมราคาของตัวรถ  ค่าเสียเวลาหรือ รายได้ที่ขาดหายไป เรียกร้องจากใครได้หรือไม่?”

                 ในเรื่องของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ   และค่าเสื่อมราคาของตัวรถ  ค่าเสียเวลา  หรือ                 
รายได้ที่ขาดหายไป  เมื่อมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นรถยนต์คันเอาประกันภัยที่เป็นฝ่ายถูก สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างซ่อม และค่าเสื่อมราคาของรถ  ค่าเสียเวลา   หรือรายได้ที่ขาดหายไปได้จากทางฝ่ายคู่กรณี หรือบริษัทประกันภัยฝ่ายคู่กรณี  เนื่องจากสัญญาประกันภัย ในรายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์เรียกร้องในส่วนนี้ เว้นแต่การขาดการใช้รถยนต์นั้น เกิดจากบริษัทประวิงการซ่อม หรือซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุอันสมควร เราจึงจะสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในส่วนนี้ได้ครับ เช่น  เมื่อนํารถยนต์เข้าซ่อม โดย บริษัทเป็นผู้สั่งซ่อม และได้ซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น  หรือเข้าซ่อมในอู่ที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เลือก โดยความยินยอมของบริษัท และบริษัทเป็นผู้จัดหาอะไหล่ให้   แต่การจัดหาอะไหล่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การซ่อมล่าช้าไปด้วย  หากเป็นดังเช่นว่ามานี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ได้

สำหรับหลักเกณฑ์มาตรฐานค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้กำหนดหลักเกณฑ์ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ในระหว่างซ่อม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562  เป็นต้นไป  ให้ทุกบริษัทประกันวินาศภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์กับประเภทของรถยนต์ ไว้ดังต่อไปนี้

     1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท

     2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท 

     3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

ส่วนรถประเภทอื่น ๆ ที่ ไม่ได้เป็นไปตามข้อ 1-3 เช่น "รถจักรยานยนต์" ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป

ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจะต้องรับผิดจึงมิได้จํากัดเฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรง  แต่รวมถึงค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เช่น ค่าเสื่อมราคาแห่งทรัพย์สิน ค่าขาดประโยชน์การใช้ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงค่าเสียเวลา   หรือรายได้ที่ขาดหายไปจนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ เช่น การขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยต้องไปเช่ารถวันละ 1,000 บาท ก็สามารถเรียกร้องได้ตามจำนวนนั้น หรือในกรณีที่ผู้เสียหายขับรถตู้รับจ้างสาธารณะ ซึ่งมีรายได้ วันละ 2,000 บาท ก็สามารถเรียกค่ารายได้ที่ขาดหายไปที่ไปตามจำนวนนั้น  โดยทางฝายคู่กรณีหรือบริษัทประกันภัยของทางฝ่ายคู่กรณีจะต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบค่าเสียหายที่แท้จริงทั้งหมด

          ส่วนค่าเสื่อมสภาพแห่งราคาของทรัพย์สินที่อาจจะมี เช่น บริษัทไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่ แต่ใช้วิธีซ่อมแทน  หรือเมื่อซ่อมแล้ว แต่พบว่ามีร่องรอยแห่งความเสียหายที่ได้ทำการจัดซ่อม ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินเสื่อมราคาลง ก็สามารถเรียกร้องค่าเสื่อมราคาของตัวรถได้ตามความเสียหายที่แท้จริง รวมถึงค่าทำให้เสียเวลา ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการขาดการใช้รถ หรือรายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ เช่น ขับแท็กซี่ ใช้ในการรับจ้าง  สามารถหารายได้ต่อวัน 1,200 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือวันละ 500 บาท เพราะฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่คนขับแท็กซี่คนนี้ จะสามารถเรียกร้องรายได้ที่ขาดหายไป จากทางฝ่ายคู่กรณี หรือบริษัทประกันภัยคู่กรณีได้ คือ วันละ 500 บาท จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ เป็นต้น  ซึ่งวงเงินที่เรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว ก็คงจะขึ้นอยู่กับประเภทรถ รายได้ที่ขาดหายไป ตามความเสียหายที่แท้จริง

กรณีที่ตัวแทน นายหน้า หรือบริษัทประกันไม่ได้แจ้งถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้สิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ กรณีนี้ถือว่าบริษัทประกันมีความผิดหรือไม่?                                                                                                              

โดยทั่วไปสิทธิตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์      สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์      หรือค่าเสียหายได้ ตามความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทน นายหน้า ประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายหรือแจ้งถึงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ ทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับรายละเอียดในการอธิบายพันธะสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้เข้าใจอย่างชัดเจน จนทำให้ผู้เอาประกันภัย เสียสิทธิประโยชน์ดังกล่าว กรณีนี้ผู้เอาประกันภัย สามารถร้องเรียนไปยังทาง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” ได้ครับ     สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 95 ระบุว่า บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการ หรือให้คำชี้แจงตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

            สำหรับในกรณีที่จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายกับทางฝ่ายคู่กรณี หรือบริษัทประกันภัยฝ่ายคู่กรณี ควรจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายที่สำคัญไว้ดังนี้

  • ใบนำรถยนต์เข้าจัดซ่อม – ใบรับรถยนต์ ( เพื่อจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันระยะเวลาการจัดซ่อม )
  • สำเนาการจดทะเบียนรถ
  • เอกสารประกอบการใช้รถยนต์แต่ละวัน เช่น เรียกใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถประจำทาง  (ถ้ามี)
  • ใบเสร็จค่าเช่ารถ กรณีที่ต้องเช่า รุ่นเดียวกันที่เกิดความเสียหาย หรือรุ่นที่ใกล้เคียงกัน (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • ใบเคลม หรือใบรับรองความเสียหายที่ทางบริษัทประกันภัยคู่กรณีได้ออกเป็นหลักฐานให้
  • สำเนาบันทึกประจำวันทางคดี กรณีที่เรื่องสถานีตำรวจ

 

ดังนั้น ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ  ในระหว่างซ่อม    ค่าเสื่อมราคาของตัวรถ  ค่าเสียเวลา ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการขาดการใช้รถ หรือรายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ สามารถเรียกร้องจากทางฝ่ายคู่กรณี หรือบริษัทประกันภัยคู่กรณีได้ครับ

พบกับบทความที่มีประโยชน์และสาระความรู้เรื่องของประกันได้ในรายการ เคลมได้ป่ะ!? ที่ช่อง YouTube ของ กรุงศรี ออโต้ นะครับhttps://www.youtube.com/watch?v=mNFbeuGIb4s&list=PLoHwRneB14sgdtabcCV54FeBSmW0T-BHD