EP07 เคลมได้ป่ะ!? รถหายที่ห้างสรรพสินค้า ใครต้องรับผิดชอบ?

27/01/2023 10:14 น.


 

ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่เป็นอย่างมาก ปัญหาในเรื่อง คนตกงานเพิ่มขึ้น กิจการธุรกิจหลายแห่งปิดกิจการ โจรผู้ร้ายก็มากขึ้นได้ยินข่าวอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องโจรขโมย เรามัก จะได้ยินข่าวอยู่เป็นประจำ  ไม่ว่าเราจะอยู่หมู่บ้านจัดสรร คอนโด โรงแรม  ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ  ปัญหาในเรื่องการสูญหายของรถยนต์ ตามลานสถานที่อาคารจอดรถ หรือสถานประกอบการต่างๆ ถ้ารถสูญหายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความสูญหายต่อตัวรถยนต์

 

ดังนั้นปัญหาที่พบในเรื่องของรถหาย เป็นเรื่องที่หลายคนมีข้อสงสัยว่า หากรถเราสูญหายไปใครจะต้องรับผิชอบให้เรา และในวันนี้ผมขอพูดถึงเรื่อง “รถหาย!  ในห้างสรรพสินค้า ใครต้องรับผิดชอบ?”

ตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการที่เราจะพิจารณาว่า เจ้าของสถานที่ หรือ เจ้าของสถานประกอบการ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายหรือไม่ จะต้องดูข้อกฎหมายอยู่ 2 เรื่อง ด้วยกันดังนี้

สัญญาฝากทรัพย์

            มาตรา  657  อันฝากทรัพย์นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนและจะคืนให้
ลักษณะสำคัญของสัญญาฝากทรัพย์  คือ 

1. ผู้ฝากจะต้อง “ โอนสิทธิครอบครอง ”  ในตัวทรัพย์ให้แก่ ผู้รับฝาก หากไม่มีการโอนสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์กันแล้ว สัญญาฝากทรัพย์เกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้รับฝากต้องมีสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์
2. หน้าที่ของผู้รับฝากก็คือต้องใช้ความระมัดระวังทรัพย์ที่รับฝากไม่ให้สูญหายหรือบุบสลาย หน้าที่ดังกล่าวนี้อยู่ในมาตรา  659  ซึ่งกฎหมายวางระดับความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากไว้ไม่เท่ากัน ขึ้นกับข้อเท็จจริงในขณะที่ฝากกันด้วย

สัญญาเช่าทรัพย์

              มาตรา 537  อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น จะเห็นว่า สัญญาเช่าทรัพย์นี้ ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่า ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลทรัพย์ที่ตนเช่าเพราะผู้เช่าได้สิทธิครอบครองในทรัพย์ที่เช่า เช่น กรณีให้เช่าที่จอดรถยนต์ ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลที่จอดรถยนต์ของผู้ให้เช่า ในทางกลับกัน ผู้ให้เช่าไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ในที่นี้คือ รถยนต์ของผู้เช่าพื้นที่แต่อย่างใด เพราะผู้เช่าไม่ได้โอนสิทธิครอบครองในรถยนต์ ( ส่งมอบรถยนต์ )มาให้ผู้ให้เช่าดูแล หากโอนสิทธิครอบครองมา ก็ไม่ใช่สัญญาเช่า แต่จะเป็นสัญญาฝากทรัพย์

             การส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ทั้งนี้จะเสียค่าบริการ (บำเหน็จค่าฝาก) หรือไม่ก็ตาม หากรถยนต์หาย เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว หรือ เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ( สุดวิสัยจะป้องกัน ) หรือเป็นเพราะรถยนต์นั้นเองหรือเป็นความผิดของผู้ฝากนั้นเอง
           อนึ่ง ในปัจจุบันทางห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักจะมีบริการที่เรียกว่า Valet Parking ซึ่งการบริการนี้ ลูกค้าของห้างดังกล่าวจะมอบกุญแจรถยนต์ของตนให้พนักงานของห้างสรรพสินค้า เพื่อนำรถยนต์ไปจอดตามจุดที่กำหนด เมื่อลูกค้าจะกลับ พนักงานก็จะขับรถยนต์นำมาให้ลูกค้าที่ทางออก เช่นนี้สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ หากสถานประกอบการอื่นทำเช่นนี้ ก็สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์เช่นเดียวกัน

กฎหมายละเมิด ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
      มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่

ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
1. ในกรณีละเมิดนี้ ต้องระมัดระวังไว้เช่นกันว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ดี เจ้าของสถานที่ ก็ดี ไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์คันใดคันหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หากรถยนต์ ได้รับความเสียหายกล่าวคือไม่ได้สูญหาย เช่น ถูกขีดเป็นรอย ถูกงัดรถยนต์เพื่อขโมยทรัพย์สินภายในรถยนต์ บุคคลตามที่กล่าวมาอาจไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นเดียวกัน  หน้าที่โดยตรงของบุคลตามที่กล่าวมาเป็นเพียงหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น แต่หากมี เขาก็สามารถอ้างได้ว่า “ ดูแลไม่ทั่วถึง ” จึงไม่ต้องรับผิดชอบ
      2. ในกรณีละเมิดนี้ หากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลักรถยนต์ไปหรือร่วมมือกับผู้อื่นลักรถยนต์ไปนั้น นายจ้างอาจไม่ต้องรับผิดชอบได้เพราะทำไปในฐานะส่วนตัวไม่ได้ทำไปในทางการที่จ้าง ตามมาตรา 425
      3. การละเว้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเกิดจากสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิต่างๆ ของบุคคลล ก็เป็นการละเมิดโดยการเว้นกระทำการตามหน้าที่อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติข้อกฎหมายที่สำคัญไว้ดังนี้

“มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

"บริการ" หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใด ๆ หรือการให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน

"ผู้บริโภค" หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

"ผู้ประกอบธุรกิจ" หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการและหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

           ดังนั้นในประเด็นรถหายในห้างสรรพสินค้า เป็นเรื่องที่หลายคนมีข้อสงสัยว่า ใครต้องรับผิดชอบในความสูญหายต่อตัวรถยนต์ หากห้างสรรพสินค้า ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไว้คอยดูแลรถของลูกค้าผู้มาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า ผมขออนุญาตยกเอาคำพิพากษาฎีกา ที่ 7471/2556  มาให้ทุกท่านได้เห็นความสำคัญเมื่อรถหายในห้างสรรพสินค้า กันนะครับ  ตามคำพิพากษาฎีกา ที่ 7471/2556  ห้างสรรพสินค้า ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า ไม่ว่าเป็นสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย กับทั้ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (9) , 34 บัญญัติให้ ห้างสรรพสินค้าต้องมีพื้นที่จอดรถภายในอาคาร เพื่อความสะดวกแก่การจราจร ทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้า ต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และมีหน้าที่ต้องดูแลตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้า ต้องระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง อีกทั้งก่อนนั้น มีการแจกบัตรเข้าออก เพื่อตรวจตรา และความเข้มงวด แต่ห้างสรรพสินค้ากลับยกเลิกการรับบัตรเข้าออก อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยง  ซึ่งห้างสรรพสินค้ารู้ดี ดังนั้นห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ลูกค้า หากรถยนต์ของลูกค้าสูญหายไป

       เห็นไหมครับว่าจากคำพิพากษาฎีกาในคดีนี้ แม้ห้างสรรพสินค้าจะไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่เป็นหน้าที่ของห้างสรรพสินค้า ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้า ทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน หากรถยนต์ของลูกค้าสูญหายไป ห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดชอบต่อความสูญหายของรถยนต์ลูกค้า ทั้งนี้ให้รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการ สถานที่อื่นๆภายในห้างสรรพสินค้าด้วยนะครับ เช่น ธนาคาร ,ร้านอาหาร , รวมถึงร้านค้าอื่นๆภายในห้างสรรพสินค้าด้วยครับ

พบกับบทความที่มีประโยชน์และสาระความรู้เรื่องของประกันได้ในรายการ เคลมได้ป่ะ!? ที่ช่อง YouTube ของ กรุงศรี ออโต้ นะครับhttps://www.youtube.com/watch?v=mNFbeuGIb4s&list=PLoHwRneB14sgdtabcCV54FeBSmW0T-BHD