ขับขี่ปลอดภัย มือใหม่หัดขับและมือเก๋าอย่ามองข้าม 7 ข้อนี้

26/01/2022 15:41 น.

สรุปให้อ่านง่าย

รวม 7 ข้อผิดพลาดเรื่องการขับรถที่ทั้งมือใหม่และผู้ที่ขับมานานก็อาจพลาดได้

1. ปรับกระจกมองข้างและกระจกมองหลังผิดมุม
2. นั่งห่างพวงมาลัยรถเกินไป ท่านั่งขับรถไม่ถูกต้อง
3. รองเท้าใส่ขับรถไม่เหมาะสม
4. ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถติดไฟแดง
5. เหยียบเบรคแช่ขณะขับรถลงเขา
6. สับสนเลนและเบียดแแซงในวงเวียน
7. เปลี่ยนเกียร์เป็น P ขณะรถติดบนทางวน


คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ขับรถไปบ่นคันอื่นไป นักขับจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะโทษผู้ขับขี่อื่นๆ ว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นการเบียด เฉี่ยว ชนเล็กน้อย ไปจนถึงความเสียหายแบบวินาศสันตะโร แต่แท้จริงแล้ว เราๆ ท่านๆ ต่างก็เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ส่วนใหญ่เพราะห่างเหินเรื่องกฎจราจรมาพักใหญ่ (หลังสอบใบขับขี่ผ่านมานานหลายปี) หรือมั่นใจในฝีมือจนมองข้ามเรื่องความปลอดภัยไปบ้าง เนื่องในโอกาสใกล้สิ้นปีที่หลายๆ คนกำลังเตรียมตัวพักผ่อนและขับรถเที่ยวปีใหม่ กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ จึงขอรวบรวม ข้อผิดพลาดในการขับขี่ที่ทั้งมือเก๋าและมือใหม่หัดขับควรใส่ใจเริ่มตั้งแต่ก่อนสตาร์ท พร้อมแนะวิธีขับขี่ปลอดภัย ไปติดตามกันเลยครับ



1. ปรับกระจกมองข้างและกระจกมองหลังผิดมุม

รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มักมาพร้อมระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตาบนกระจกมองข้างที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงรถเฉี่ยวชนขณะเปลี่ยนเลน แต่รถส่วนใหญ่ที่ยังต้องอาศัยการกะระยะด้วยสายตา การปรับกระจกไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดจุดบอดและเสี่ยงอุบัติเหตุได้ ทุกครั้งก่อนออกสตาร์ท นักขับที่ใส่ใจความปลอดภัยจึงควรปรับตำแหน่งและหันดูกระจกให้แน่ใจทุกครั้งก่อนเปลี่ยนเลน

ปรับกระจกมองข้างและกระจกมองหลังอย่างไร

  • ปร้บกระจกมองข้างทั้งฝั่งผู้โดยสารและฝั่งคนขับให้ตั้งฉาก 90° กับตัวรถเพื่อให้เห็นมุมกว้างที่สุด หากกระจกอยู่ในตำแหน่ง 45° ผู้ขับจะเห็นด้านข้างรถมากเกินไป จนเห็นรถที่ขับขนานมาในระยะกระชั้นชิดเกินกว่าจะหลบหลีกทัน
  • ปรับกระจกมองหลังให้เห็นด้านหลังในมุมที่กว้างที่สุด และไม่ควรมีวัตถุหรือศีรษะผู้ร่วมทางบดบังทัศนวิสัย
  • เมื่อปรับเสร็จแล้วลองทดสอบดูว่ามองเห็นจุดที่ต้องการได้โดยไม่ต้องขยับศีรษะหรือโยกตัวหรือไม่




     2. นั่งห่างพวงมาลัยรถเกินไป ท่านั่งขับรถไม่ถูกต้อง

    ท่านั่งขับรถและตำแหน่งการปรับเบาะรถคุณเป็นอย่างไร เน้นความสบายเป็นหลักหรือเปล่า แท้จริงแล้วท่านั่งขับรถที่ถูกต้องมีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างมาก การนั่งเอนตัวขับทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี หากสบายมากไปขณะขับทางไกลก็อาจส่งผลให้ผู้ขับเผลอหลับได้ หากนั่งเหยียดขาจนตัวอยู่ห่างพวงมาลัยรถเกินเหตุ ประสิทธิภาพและความว่องไวในการเหยียบเบรกและคันเร่งย่อมลดลง ทั้งอาจทำให้หลังงองุ้ม จนกล้ามเนื้ออ่อนล้าและปวดหลังส่วนล่างตามมา

    ท่านั่งขับรถที่ดีเป็นอย่างไร

  • ปรับระยะห่างระหว่างเบาะกับพวงมาลัยให้พอดี ลองทดสอบดูว่าคุณเหยียบเบรคและคันเร่งได้ทันท่วงทีหรือไม่
  • ปรับเบาะให้สูงพอเหมาะ เพื่อให้ท่านั่งขับรถคล้ายกับท่านั่งเก้าอี้ เบาะที่สูงกำลังดีช่วยให้ศีรษะและคอของผู้ขับตั้งตรง ไม่ต้องชะเง้อมอง บ่าและไหล่ไม่เมื่อยล้า หลังไม่งอ และช่วยให้มองกระจกมองข้างและกระจกมองหลังได้ถนัด
  • ปรับความเอียงของเบาะนั่ง ตลอดจนความสูงและระยะห่างของเบาะพิงศีรษะให้พอดี สังเกตง่ายๆ คือคุณไม่ต้องออกแรงยกคอและศีรษะให้ตั้งตรงขณะขับรถ ตำแหน่งเบาะพิงศีรษะที่เหมาะสมคือ ระยะห่างระหว่างเบาะพิงศีรษะกับศีรษะคนขับไม่ควรเกิน 2 นิ้ว หรือประมาณ 10 ซม. ปรับความสูงของเบาะพิงให้อยู่ด้านหลังศีรษะคนขับในระดับหู เพราะในสถานการณ์ที่รถชนท้าย สิ่งที่ควรสัมผัสเบาะพิงคือศีรษะ ไม่ใช่บริเวณต้นคอ


    3. รองเท้าใส่ขับรถไม่เหมาะสม

    รองเท้าแตะและรองเท้าส้นสูงไม่ใช่เพื่อนแท้คู่เท้าของนักขับนะครับ รองเท้าแตะที่หลวมหลุดได้อาจเข้าไปขวางแป้นเบรคเหมือนที่เราได้ยินในข่าวกันอยู่บ่อยครั้ง ส่วนรองเท้าส้นสูง ส้นตึก หรือแม้แต่ผ้าใบรุ่นใหม่ๆ ที่พื้นรองเท้าสูงมากก็เป็นอุปสรรคต่อการกะน้ำหนักเหยียบคันเร่งและเบรค ทำให้ผู้ขับตอบสนองเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ไม่ทันท่วงที

    นอกจากรองเท้าแตะติดแป้นเบรคแล้ว อีกเรื่องที่ไม่น่ามองข้ามคือสิ่งของในรถ เช่น ขวดน้ำดื่ม แล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ที่อาจเหวี่ยงมากระแทกร่างกายหรือกีดขวางการควบคุมรถกรณีเบรคกะทันหัน และก่อให้เกิดอันตรายได้ ผลการทดลองโดย Art Liggio, president of Driving Dynamics ชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากสิ่งของทั่วๆ ไปที่เรามักมีติดรถ เช่น หากขับรถที่ความเร็ว 80 กม./ชม. แล้วเบรคกะทันหัน ขวดน้ำดื่มขนาดครึ่งลิตรจะมีแรงเหวี่ยงเทียบเท่าวัตถุน้ำหนัก 9.5 กก. ลองนึกภาพดูว่าหากเป็นแล็ปท็อปน้ำหนัก 1-3 กก. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมทวีคูณ

    เลือกรองเท้าขับรถอย่างไร

  • สวมรองเท้าที่กระชับและส้นไม่สูงเกินไปเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมเบรคและคันเร่ง
  • นอกจากสวมรองเท้าให้เหมาะแล้ว อย่าลืมหาที่วางสิ่งของให้มั่นคงเพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ และช่วยให้คุณมีสมาธิในการขับขี่มากขึ้น
     

4. ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถติดไฟแดง

แม้จะทราบดีว่าผิดกฎหมาย แต่กิจกรรมยามว่างขณะรอสัญญาณไฟเขียวของหลายๆ คนคือการเล่นโทรศัพท์มือถือ แท้จริงแล้ว ขณะจอดรถติดไฟแดงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่นักขับควรหมั่นดูกระจกมองหลังหรือกระจกมองข้าง นอกจากเพื่อคอยสังเกตและระวังรถมอเตอร์ไซค์ที่พยายามขับแทรกแล้วมักเฉี่ยวกระจกมองข้างแล้ว สิ่งที่ร้ายแรงกว่าก็คือ กรณีรถที่ขับตามมาหลับในหรือใช้โทรศัพท์ขณะขับรถเพลิน จนพุ่งเข้าชนท้ายรถคุณอย่างจัง

ทำอย่างไร หากอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงรถชนท้าย

หากเกิดเหตุการณ์ที่คุณจอดรอสัญญาณไฟอยู่แล้วได้ยินเสียงรถคันหลังเบรคมาแต่ไกล หรือต่อให้ไม่ได้ยินเสียงเบรค แต่สังเกตรถคันหลังทางกระจกมองข้างและกระจกมองหลังแล้วเห็นท่าไม่ดีไม่ดี เสี้ยววินาทีนั้นควรตัดสินใจดังนี้เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา

  • ประเมินสถานการณ์ ตั้งสติและหาทางหนีทีไล่ เช่น เคลื่อนรถไปเลนข้างๆ หากไม่มีรถคันอื่นจอดอยู่
  • หากเลนข้างๆ มีรถจอด ให้คาดเข็มขัดนิรภัยให้มั่น และเตรียมท่าทางที่เหมาะสมเพื่อรับแรงกระแทก (Brace for impact) เท้าเหยียบเบรคป้องกันรถเลื่อนไหล เกร็งแขนและขาเพื่อลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อบาดเจ็บ และพิงศีรษะเข้ากับเบาะ ซึ่งหากคุณปรับเบาะพิงศีรษะไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมจะช่วยลดการบาดเจ็บแบบวิพแลช* (Whiplash) ได้ถึง 40% (วิพแลช คืออาการบาดเจ็บบริเวณคอจากแรงสะบัด มักพบในอุบัติเหตุรถยนต์) 


    5. เหยียบเบรคแช่ขณะขับรถลงเขา

    การเหยียบเบรคเป็นระยะขณะขับรถลงเขาเพื่อชะลอความเร็วรถนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหามักเกิดเมื่อเจอทางโค้งคดเคี้ยวลาดชันต่อเนื่องหลายสิบกิโลเมตร แล้วนักขับเหยียบเบรคค้างไว้นานๆ จนผ้าเบรคเสียดสีกับจานเบรค เกิดความร้อนสะสมจนเบรคไหม้ น้ำมันเบรคเดือด มีกลิ่นเหม็นไหม้แบบที่เราเจอเวลาขับรถขึ้นลงดอยอินทนนท์หรือดอยสูงอื่นๆ ซึ่งอันตรายมากหากจานเบรคจับไม่อยู่หรือเบรคแตก

    ขับรถลงเขาต้องทำอย่างไร

  • งดเหยียบเบรคแช่ หากทางไม่ชันมากใช้เกียร์  D ได้ หากชันมากให้ใช้เกียร์ต่ำ (D1-D2 แล้วแต่รุ่นของรถ) หรือใช้เอนจิ้นเบรค ซึ่งเป็นการผ่อนคันเร่งและเพิ่มรอบเครื่องยนต์เพื่ออาศัยแรงหน่วงของเครื่องยนต์ช่วยชะลอความเร็วรถ
  • ห้ามใช้เกียร์ว่างหรือเกียร์ N ลงเขาเด็ดขาด
  • แตะเบรคให้สัมพันธ์กับความเร็ว หากวิ่งมาเร็วแล้วลดเกียร์ทันทีจะมีผลให้เครื่องยนต์สึกหรอในระยะยาว
  • คุมความเร็วไว้ไม่เกิน 80 กม./ชม. และไม่เหยียบคันเร่งหากไม่จำเป็น ช่วงโค้งหักศอกต้องชะลอความเร็วลงอีกครึ่งหนึ่ง
  • เว้นระยะจากคันหน้าให้มากที่สุด หากมีรถจี้ท้าย ไม่ต้องเร่งตาม ควรเปิดไฟเลี้ยวเพื่อให้เขาแซงไปก่อน
  • ช่วงที่เป็นเนินลาดชันมากๆ ให้เลี่ยงการแซงรถบรรทุก เพราะรถหนักช่วงขาลงมักเบรคไม่อยู่
     

 

6. หลุดเลนและเบียดแซงในวงเวียน

หลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาวิงเวียนในวงเวียน ไม่รู้จะออกเลนไหน รถก็วิ่งกันขวักไขว่ ยิ่งวงเวียนแบบไม่สัญญาณไฟ เรียกได้ว่าปราบมือใหม่หัดขับให้เข็ดขยาดได้เหมือนกัน

ขับรถในวงเวียนอย่างไร

  • ก่อนเข้าวงเวียนมักมีป้ายบอกทาง ดูให้แน่ใจว่าทางออกของคุณนั้นเป็นทางออกใด จะได้เลือกเลนตั้งต้นถูกต้อง
  • ให้รถในวงเวียนไปก่อนเสมอ งดเบียดแซงหรีอปาดหน้า
  • อย่ากีดขวางทางด้วยการจอดรอจังหวะเพื่อเปลี่ยนเลน ให้ค่อยๆ ขับตามปกติและเปิดไฟเลี้ยวเพื่อขอทาง
  • หากเลยทางออก ไม่ต้องตกใจ วนวงเวียนใหม่อีกรอบ

เปิดไฟเลี้ยวเมื่อจะออกจากวงเวียน

7. เปลี่ยนเกียร์เป็น P ขณะรถติดบนทางลาดชันและทางวน

รถติดบนทางวนและทางลาดชันในลานจอดรถห้างสรรพสินค้านับเป็นไม้เบื่อไม้เมาของชาวมือใหม่หัดขับและสุภาพสตรีหลายๆ คน ยิ่งถ้าต้องหักเลี้ยวในมุมแคบ แถมมีรถตามมาจ่อท้ายในระยะประชิด ยิ่งกังวลว่ารถจะเลื่อนไหลไปชนกันให้ต้องเสียเวลาเรียกประกัน แม้รถรุ่นใหม่ๆ อาจมีระบบป้องกันรถไหล แต่ถ้าองศาความชันไม่ถึง ระบบป้องกันรถไหลก็จะยังไม่ทำงานอยู่ดี นักขับหลายท่านจึงเลือกที่จะเปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่ง P ทั้งที่จริงๆ แล้วหากคุณอยู่ในเกียร์ D กลไกของเกียร์จะช่วยให้รถเคลื่อนไปด้านหน้า

รถติดบนทางลาดชันต้องทำอย่างไร

  • ตั้งสติแล้วเหยียบเบรคให้สุด เพราะจานเบรคจะจับผ้าเบรคต่อไปอีก 2-3 วินาที หลังจากคุณถอนเบรคเพื่อเหยียบคันเร่ง
  • ยกเบรคมือช่วยได้หากไม่มั่นใจว่ารถจะหยุดนิ่งบนทางลาดชัน
  • เมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ ให้เหยียบคันเร่ง เมื่อรถออกตัวแล้วจึงปลดเบรคมือ รถจะไม่พุ่งตัวแรงเกินไป
  • หากมีสองเลน พยายามอยู่เลนด้านนอกที่มักลาดเอียงน้อยกว่าและควบคุมคันเร่งได้ง่ายกว่า
  • งดขับจี้ท้ายคันหน้า เว้นระยะปลอดภัย และไม่ต้องกังวลใจว่ารถคันหลังจะตำหนิ ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุด

มีข้อไหนตรงกับคุณบ้างครับ หรือหากคุณเคยเห็นเพื่อนร่วมทางหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมการขับขี่ที่สุ่มเสี่ยงบนท้องถนนทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ลองแชร์ให้เราทราบบ้างเพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักและใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น แล้วอย่าลืมทำประกันภัยรถยนต์ตามงบ เพื่อคุ้มครองรถ คุ้มครองคน และเพิ่มความอุ่นใจในการขับขี่ไว้ด้วยนะครับ เช็คความคุ้มครองและเงื่อนไขประกันภัยที่ตรงใจได้ในไม่กี่คลิกเลย สุดท้ายนี้ กรุงศรี ออโต้ โบรคเกอร์ ขอให้ทุกท่านเดินทางเที่ยวปีใหม่อย่างสุขใจและปลอดภัยกันถ้วนหน้านะครับ


เช็คเบี้ยประกัน


อ้างอิงจาก

https://www.littlethings.com/most-common-driving-mistakes/4
https://www.motorexpo.co.th/knowledge/1341
https://www.motorexpo.co.th/knowledge/2176
https://www.ridebuster.com/knowing-blind-spot/
https://www.ridebuster.com/how-to-drive-circle/
https://www.thaihealth.or.th/